โอกาสใหม่ ‘โซลาร์ลอยน้ำ’

ช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน” หรือ “โซลาร์ฟาร์ม” กลายเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีจุดเด่นแดดดีสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี เห็นได้จากมีการติดตั้งแผงโซลาร์กระจายบนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นดิน” หรือ “โซลาร์ฟาร์ม” กลายเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้รับความนิยมแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีจุดเด่นแดดดีสามารถนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี เห็นได้จากมีการติดตั้งแผงโซลาร์กระจายบนพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ

แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ มีพัฒนาการมากขึ้น ทำให้ “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” กลายเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี ที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่วางแผงโซลาร์เซลล์บนบก ที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก

จึงเป็นที่มาของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) ที่กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid Project ตามเขื่อนต่าง ๆ ของกฟผ. มีกำลังผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ ตลอดระยะเวลา 20 ปี

สำหรับปีที่มีกำลังผลิตโซลาร์ลอยน้ำจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2573 เขื่อนภูมิพลส่วนขยาย 300 เมกะวัตต์ ปี 2575 เขื่อนศรีนครินทร์ส่วนขยาย 2 จำนวน 300 เมกะวัตต์ ปี 2576 เขื่อนจุฬาภรณ์-บางลาง-ภูมิพล ส่วนขยาย 2 จำนวน 438 เมกะวัตต์ และปี 2578 เขื่อนสิริกิติ์อีก 325 เมกะวัตต์

ในแง่เทคโนโลยีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เริ่มมีการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด Double Glass ที่มีคุณสมบัติดีกว่ามาใช้แทนแผงชนิด Single Glass โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดนี้ จะถูกประกบด้วยกระจกทั้งด้านบนและด้านล่าง จึงทำให้สามารถป้องกันความชื้นจากน้ำใต้แผงเข้าสู่เซลล์แสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่มีการซึมผ่านของไอน้ำ

โดยแผงชนิด Double Glass เป็นแผ่นกระจก จึงช่วยเสริมความแข็งแรงของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ดีกว่าแผงชนิดอื่น ทำให้ Double Glass จึงเป็นแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (เมื่อเปรียบเทียบกับแผงชนิด Single Glass) สำหรับโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ

ที่สำคัญทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์อยู่ใกล้ผิวน้ำที่มีความเย็น ทำให้สามารถระบายความร้อนดีกว่าการติดตั้งแผงบนพื้นดิน จากผลจากการวิจัย พบว่า การติดตั้งแผงบนผิวน้ำสามารถเพิ่มประ สิทธิภาพของการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 8-10% (เทียบกับการติดตั้งแผงโซลาร์บนพื้นดิน) และทำให้อายุการใช้งานของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ยาวนานขึ้นด้วย

สำหรับผู้ประกอบการถือว่า “โซลาร์ฟาร์มและผู้ผลิตทุ่นลอยน้ำ” เป็นโอกาสขยับเขยื้อนการลงทุนจาก “โซลาร์ฟาร์มบนพื้นดิน” เพื่อมาแสวงหาการลงทุน “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” และสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอีกทางหนึ่ง..!

ทว่าผู้ประกอบการรายใดหรือกลุ่มใด จะได้ผลตอบแทนมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมีเทคโนโลยีที่ดีและการควบคุมต้นทุนจากการดำเนินงานได้มากกว่ากันเท่านั้นเอง

Back to top button