เปิดโผหุ้นรับปัจจัย ‘บวก-ลบ’ จาก กนง.ลดดอกเบี้ย!?
กรณี กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายมีการคาดการณ์ว่าจะมีทั้งข้อดี และข้อเสีย อาทิ ข้อดี คือ การส่งออกจะดีขึ้น ส่วนข้อเสีย คือ บาทอ่อน เงินไหลออก ไม่ดีกับตลาดหุ้น
เส้นทางนักลงทุน
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 1.50% ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ทันที
สำหรับมติเสียง โดย 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย
ทังนี้ กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่ต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
ถือว่างานนี้มีการเซอร์ไพรส์เป็นอย่างมาก! เนื่องจากสวนทางกับนักวิเคราะห์และตลาดคาด
ดังนั้น กรณี กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มีการคาดการณ์ว่าจะมีทั้งข้อดี และข้อเสีย อาทิ ข้อดี คือ การส่งออกจะดีขึ้น ส่วนข้อเสีย คือ บาทอ่อน เงินไหลออก ไม่ดีกับตลาดหุ้น
นอกจากนี้ กนง.ลดดอกเบี้ยเป็นจิตวิทยาทางบวกกับ หลักทรัพย์ที่อ่อนไหวไปตามอัตราดอกเบี้ย เช่นเช่าซื้อ, อสังหาฯ-ที่อยู่อาศัย และหุ้นปันผลสูง (ดอกเบี้ยในตลาดลดลง) หุ้นกลุ่มส่งออก เป็นต้น แต่อาจเป็นลบกับธนาคาร แต่ในความเป็นจริง สถาบันการเงินยังอาจไม่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยตาม
ส่วนหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ หลัง กนง.ลดดอกเบี้ย มีดังต่อไปนี้
หลักทรัพย์อาจจะได้ประโยชน์ อาทิ เป็นบวกกับไฟแนนซ์ เช่น บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC, บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC, บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD, บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ ASK,
บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ THANI, บริษัท อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMANAH, บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO, บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เป็นต้น
ต่อมาเป็นกลุ่มอสังหาฯ เช่น บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH, บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI
เช่นเดียวกับกลุ่มท่องเที่ยว เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT, บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT
ประกอบกับกลุ่มโลจิสติกส์ เช่น บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD, บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ III
และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA
นอกจากนี้จะทำให้เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งจะเป็นบวกกับผู้ส่งออก เช่น บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT, บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เป็นต้น
สิ่งสำคัญผู้ที่มีหนี้จำนวนมากและ Bond กำลังจะครบกำหนด ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO
ส่วนทางด้านหลักทรัพย์อาจเสียประโยชน์ อาทิ เป็น sentiment ลบกับแบงก์ใหญ่ (แต่ในทางปฏิบัติ กระทบจำกัดเพราะการขึ้นดอกเบี้ยครั้งก่อน แบงก์ไม่ได้ปรับขึ้น) แต่อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่า ผลของการลดดอกเบี้ยนโยบายจะกระทบประมาณการกำไรกลุ่มธนาคารใหญ่ประมาณ 3-5% ขณะที่กระทบกำไรกลุ่มธนาคารกลางที่เน้นเช่าซื้อราว 1% โดยกำไรจะลดมากสุดได้แก่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ลดลงราว 5.3%, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ลดลงราว 4.2% และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ลดลงราว 3.4%
รวมไปถึงกลุ่มประกัน เช่น บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ BLA, บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เป็นต้น
อีกทั้งเป็นลบกับ เช่น บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TVO, บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNEX เป็นต้น
จากหลักทรัพย์ดังที่กล่าวข้างต้นเป็นการหยิบยกมาจากบทวิเคราะห์เพื่อให้เป็นแนวทางของการลงทุน และรับมือกับการลงทุนจากประเด็นที่ทาง กนง. ลดอัตราดอกเบี้ย! ว่าจะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มไหนและทำให้กลุ่มไหนเสียประโยชน์