รัฐบาลแห่งชาติ?ทายท้าวิชามาร

ใครนะ ปล่อยข่าว “รัฐบาลแห่งชาติ” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร “นายกฯคนกลาง” ฟังแล้วขำกลิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ “นายกฯคนกลาง” หรือ ท่านมีปัญหาตรงไหนถึงจะไล่ท่านแล้วเรียกหา “นายกฯคนกลาง” อีก


ใครนะ ปล่อยข่าว “รัฐบาลแห่งชาติ” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร “นายกฯคนกลาง” ฟังแล้วขำกลิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ “นายกฯคนกลาง” หรือ ท่านมีปัญหาตรงไหนถึงจะไล่ท่านแล้วเรียกหา “นายกฯคนกลาง” อีก

ใครที่ปล่อยข่าวนี้น่าจะมีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ยิ่งกว่าผู้หญิงที่โพสต์ว่า “ลุงตู่” โอนเงินหมื่นล้านไปสิงคโปร์ เพราะนอกจากเขย่าความเชื่อมั่น ยังยุยงให้พี่กับน้องหวาดระแวงกันด้วย

ทำไมถึงมีความพยายามคิดสูตร “รัฐบาลแห่งชาติ” ทั้งที่อยู่ระหว่างรัฐประหาร ไม่ใช่รัฐบาลนักการเมืองซักหน่อย หรือเห็นว่ารัฐบาลประยุทธ์จะทนแรงเสียดทานไม่ไหว ต้องเปลี่ยนโฉมใหม่เพื่อยืดอายุให้ยืนขึ้น

ฝ่ายผู้สนับสนุนรัฐบาล ก็เพิ่งระดมคนไปชูป้าย “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ซึ่งชวนให้ขำอีก ปฏิรูปอะไร อยู่มาตั้งปีกว่าแล้วยังปฏิรูปไม่หนำใจอีกหรือ จะปฏิรูปอีกกี่สิบปี เอาแบบสฤษดิ์-ถนอมไหม ร่างรัฐธรรมนูญไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีเลือกตั้ง

บรรยากาศในสังคมไทยวันนี้ ดูเหมือนไม่มีใครคิดว่าจะได้เลือกตั้งเร็ว มีแต่ช้า ช้า และยิ่งช้า

ร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ระหว่างแก้ไข จะส่งให้ สปช.ลงมติในวันที่ 4 ก.ย. ดูเหมือนไม่มีใครคิดว่าจะผ่านไปสู่การลงประชามติ มีแต่เก็งว่าจะคว่ำ แล้ว คสช.ก็จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวลาอีก 180 วัน

แต่ถ้ามันพลิกโผละครับ ถ้า สปช.กลับลำผ่านร่าง ซึ่งกรรมาธิการกลับหลังหัน ยอมแก้ไขหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าผ่านไปสู่ประชามติจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้น เราคงได้เห็นภาพตลกๆ สวนทางปี 50 เมื่อกองเชียร์รัฐประหารพากันรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ คสช.อยู่นานๆ

วันที่ 4 ก.ย.อีกไม่ถึง 2 เดือน สถานการณ์การเมืองจะยกระดับ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามโรดแม็พของ คสช.เอง

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ต้องทำประชามติ คสช.ก็ต้องเปิดให้มีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวรณรงค์เห็นด้วย-คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองไม่เห็นว่าจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อวันนี้ท่านยังจำกัดเสรีภาพทางการเมืองไว้ที่ศูนย์ ไม่ให้มีการแสดงความเห็นต่าง ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวแม้น้อยนิด ถ้าเปิดให้มีเสรีภาพไม่กลัวแรงกระเพื่อมหรือ

แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็แปลว่าระบอบ คสช.จะอยู่ไปอีกนานอย่างน้อย 180 วัน ความอึดอัดก็จะมากขึ้น ความอดทนอดกลั้นก็จะน้อยลง

ที่มีโพลล์อ้างว่าคนส่วนใหญ่เกือบ 80% ให้โอกาสรัฐบาล รัฐบาลทำดีอยู่แล้ว ไม่ต้องการเห็นความวุ่นวาย ฯลฯ ไม่จริงหรอกครับ คนส่วนใหญ่แค่มองไม่เห็นทางออก ไม่รู้จะไปทางไหน ต้องยอมทนอยู่กับ คสช.อย่างนี้ไปก่อน แต่ความอดทนของคนก็มีขีดคั่นเหมือนกัน แม้ยังไม่รู้ว่าจุดนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่

ด้วย Agenda บางอย่าง รัฐประหารชุดนี้จำต้องอยู่ยาวทั้งที่ควรจะมาเร็วเคลมเร็วไปเร็ว ซึ่งมีแรงกดดันน้อยกว่า ดูรัฐประหาร 49 สิ ใช้เวลาไม่ถึงปี ลงประชามติรัฐธรรมนูญเดือนสิงหาคม พลังต่อต้านแม้ร้อนแรงแต่พอรู้วันเลือกตั้งก็หมดความกดดัน

คสช.ต้องอยู่กับแรงเสียดทานยาวนานกว่า จึงมีคนพยายามคิดสูตรเช่นรัฐบาลแห่งชาติ ซึ่งฟังแล้วตลกขบขัน คิดหรือว่านักการเมืองจะยอมร่วมรัฐบาล คสช. คิดหรือว่าการเปลี่ยนตัวจาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนอื่นจะประคองให้อยู่ยาวได้

ตรงกันข้าม ความพยายามคิดสูตรใหม่ ความพยายามระดมมวลชนมาปกป้องรัฐบาล ก็สะท้อนความกลัวว่าจะไปไม่รอดเช่นกัน

 

                                                                                                               ใบตองแห้ง

Back to top button