ท่องสแกนฯแว่บเอสโตเนีย

ต้นเดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารปตท.ทั้งบริษัทแม่และบริษัทในเครือ พาสื่อมวลชนรุ่นคอลัมนิสต์อาวุโสจำนวน 25 ท่าน เดินทางไปดูงานในยุโรปเหนือแถบสแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ คือ ฟินแลนด์-เดนมาร์ก-สวีเดน และมีเอสโตเนีย แค่ข้ามอ่าวจากเฮลซิงกิก็ไปถึงทาลลินน์ เมืองหลวงเอสโตเนียแล้ว


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ต้นเดือนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารปตท.ทั้งบริษัทแม่และบริษัทในเครือ พาสื่อมวลชนรุ่นคอลัมนิสต์อาวุโสจำนวน 25 ท่าน เดินทางไปดูงานในยุโรปเหนือแถบสแกนดิเนเวีย 3 ประเทศ คือ ฟินแลนด์เดนมาร์ก-สวีเดน และมีเอสโตเนีย แค่ข้ามอ่าวจากเฮลซิงกิก็ไปถึงทาลลินน์ เมืองหลวงเอสโตเนียแล้ว

ใช้เวลานั่งเรือเฟอร์รี่ข้ามประเทศแค่ 2 ชั่วโมง ก็เดินทางไปกลับได้ในวันเดียว

เอสโตเนีย อดีตเคยเป็นมลรัฐหนึ่งของสหภาพโซเวียตรัสเซีย เพิ่งจะแยกตัวเองออกมาเป็นเอกราชเมื่อปี 2534 ที่ผ่านมานี้ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก

การศึกษาดูงานของคณะเรา มุ่งเน้นไปที่ฟินแลนด์และเดนมาร์ก ดินแดนที่มีการพัฒนา “พลังงานเขียว” หรือ “ พลังงานทดแทน” สูงสุด ติดอันดับแนวหน้าของโลก อันมีทั้งสายลม แสงแดด ชิ้นไม้สับ ขยะ น้ำเสีย หรือฟางข้าว แต่การพัฒนาที่ก้าวหน้าไปไกลที่สุด เห็นจะเป็นพลังงานลม

ชาวยุโรปเหนือจะเป็นพวกที่ว่องไวต่อการรับรู้เรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด พวกเขารู้สึกว่าน้ำแข็งที่จับตามขั้วโลก จะมีการละลายเร็วขึ้น ๆ ทุกปี จึงเป็นที่มาของ “ทฤษฎีโลกร้อน” ที่จะต้องคิดค้นประดิษฐ์พลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลอันมีเชื้อเพลิงหลัก ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน

ซึ่งเป็นตัวปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาล

ฟินแลนด์และเดนมาร์ก มีความเอาจริงเอาจังมากที่จะขจัดพลังงานฟอสซิลและสร้างพลังงานเขียวหรือพลังงานสะอาดเข้ามาทดแทน ถึงกับกำหนดเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ไว้ชัดเจนเลยว่า ปีใดจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศได้เท่านั้นเท่านี้ ปีใดจะเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน และปีใดจะเลิกผลิตพลังงานจากฟอสซิลทั้งหมด

ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งขณะนี้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมคิดเป็นร้อยละ 43 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ ประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ไว้เลยว่า ภายในปีค.ศ.2050 หรืออีก 31 ปีข้างหน้านี้ จะใช้เลิกพลังงานฟอสซิลให้หมด โดยใช้พลังงานสะอาดเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์

เดนมาร์กมีเมืองต้นแบบที่พึ่งพาพลังงานเขียวทั้ง 100% คือเกาะแซมโซ่ นั่งเรือเฟอร์รี่จากโคเปนเฮเกนไปประมาณชั่วโมงครึ่ง พื้นที่เกาะมีขนาด 114 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 3,800 คน และนักท่องเที่ยวปีละประมาณ 150,000 คน

พลังงานทางเลือกที่นี่ เล่นกันทุกรูปแบบ มีกังหันลมบนบก 11 ตัว นอกชายฝั่ง 10 ตัว โรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2,500 ตารางเมตร

เชื่อไหมครับ กำลังผลิตไฟฟ้าบนเกาะเขียวแห่งนี้มีมากถึง 28,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเกินกว่าความต้องการใช้ได้ทั้งเกาะ และเหลือขายเข้ากริดไปขายให้คนเยอรมันทางตอนเหนือซึ่งมีพื้นที่เชื่อมโยงกัน

จากโคเปนเฮเกน สามารถจะไปสัมผัสดินแดนสวีเดนตอนใต้ที่เมืองน่ารัก ๆ เมืองหนึ่งคือมัลโมได้ในช่วงเวลาแค่ 35-40นาทีเท่านั้น โดยเส้นทางมหัศจรรย์ชื่อ “สะพานโอเรซุนด์” ซึ่งยาวที่สุดในยุโรปประมาณ 12 กม. เป็นสะพาน 8 กม. และอุโมงก์ลอดใต้ทะเล 4 กม.

ประเทศฟินแลนด์ก็เช่นกัน ประกาศเป้าหมายระยะกลางว่า ภายในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573) หรืออีก 11 ปีข้างหน้านี้ จะเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดให้เกินกว่าร้อยละ 50 ของพลังงานทั้งหมด

ฟินแลนด์เป็นดินแดนที่ได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติว่า ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกมา 2 ปีติดต่อกัน และมีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก (เรียนน้อยแต่คิดกว้างไกล ) เช่นกันด้วยนะ

ประทับใจท่านทูตนพพร อัจฉริยวนิช ออท.ณ นครเฮลซิงกิ จริง ๆ ที่ได้เล่าถึงระบบการศึกษาของฟินแลนด์ ที่ใช้เวลาเรียนน้อย วันหนึ่งแค่ 4-5 ชั่วโมง แต่เน้นสร้างความคิดกว้างไกลให้เด็ก และให้เด็กไปมีสันทนาการตามความรักชอบอย่างละเอียดลออ รวมทั้งวิถีชีวิตของคนในประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอย่างเป็นรูปธรรม

ก็คงจะจริงหรอกนะครับ เพราะเงินภาษีอากรส่วนบุคคลที่เก็บสูงสุดในระบบถึงร้อยละ 65 นั้น พอถึงเวลาเกษียณฯ รัฐก็คืนเงินที่เก็บภาษีไปให้หมดเลย

เมืองไทยถ้าคิดจะสร้างบ้านแปงเมืองเป็นรัฐสวัสดิการ ก็ควรจะคิดให้มีหลักมีเกณฑ์อย่างเขาก็คงจะดีไม่น้อย หากมิใช่เป็นสวัสดิการเปะปะที่เอาแต่แจกดะเช่นทุกวันนี้

มาฟินแลนด์ทั้งที อดนึกถึงเพื่อนเก่าแก่ผู้ปฏิวัติวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เปลี่ยนจากรุ่น “กระดูกสุนัข” มาเป็นระบบGSM ไม่ได้ และต้องหาโอกาสมาเยี่ยมเยือน นั่นคือโนเกีย ที่ครองตลาดมาตั้งแต่ค.ศ.1991 และยืนระยะมาได้ไม่น้อยกว่า 2ทศวรรษ ก่อนจะเสียตำแหน่งแชมป์ไปให้ซัมซุงและไอโฟน

แต่เดี๋ยวนี้ “โนเกีย” ก็ไม่ได้สูญหายไปไหนนะครับ ขายส่วนโมบายล์ไปให้ไต้หวัน และกลับมาพัฒนางานระบบการสื่อสารและอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายแทน

ทัศนศึกษากับปตท.คราวนี้ คุ้มค่ามาก มีการดูงานที่ต้องผูกไทใส่สูทและงานภาคสนามถึง 8 มีตติ้งด้วยกัน ไปดูงานอะไรมาก็เอามาแลกเปลี่ยนกันบนโต๊ะอาหารบ้าง ห้องประชุมบ้าง คล้ายกับการทำเวิร์กชอปจริง ๆ เลย เพราะมีผู้บริหารปตท.ทั้งเครือมาเป็นวิทยากร

ทริปดูงานเช่นนี้หายากมากครับ ต้องขอขอบคุณอย่างสูงต่อท่านประธานไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย, คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร ซีอีโอปตท. ผู้บริหารจากปตท.สผ. PTTGC ไทยออยล์ IRPC GPSC PTTOR ประธานปิโตรเลียมขั้นต้น-ขั้นปลายและผู้ช่วยฯ อัญชลี หวังวีรมิตร

ขอบคุณที่ให้โอกาสมาสัมผัสดินแดนที่มีอากาศเย็นสบาย ปลอดจากพิษภัยคาร์บอนครับ

Back to top button