พาราสาวะถี

รู้ทั้งรู้ว่ายิ่งยืดเยื้อยิ่งไม่เป็นผลดี แต่ไม่รู้จะทำยังไงได้ การใช้วิธีเงียบสงบเพื่อสยบความเคลื่อนไหวจึงเป็นวิธีเดียวที่ทำได้ในเวลานี้สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ส่วนการยกเหตุผลว่ารอกระบวนการที่มีผู้ไปยื่นร้องผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้มีการวินิจฉัยจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นทางลงที่น่าจะปลอดภัยที่สุด แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ท่านผู้นำรีบแก้ไขตามคำที่ได้พูดไว้ รวมไปถึงยืนยันว่าจะรับผิดชอบอย่างไร


อรชุน

รู้ทั้งรู้ว่ายิ่งยืดเยื้อยิ่งไม่เป็นผลดี แต่ไม่รู้จะทำยังไงได้ การใช้วิธีเงียบสงบเพื่อสยบความเคลื่อนไหวจึงเป็นวิธีเดียวที่ทำได้ในเวลานี้สำหรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ ส่วนการยกเหตุผลว่ารอกระบวนการที่มีผู้ไปยื่นร้องผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้มีการวินิจฉัยจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นทางลงที่น่าจะปลอดภัยที่สุด แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ท่านผู้นำรีบแก้ไขตามคำที่ได้พูดไว้ รวมไปถึงยืนยันว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

กระนั้นก็ตาม การที่ปล่อยไปให้สุดทางที่องค์กรซึ่งน่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากผลออกไปในทางที่เป็นคุณกับอดีตหัวหน้าเผด็จการคสช. โดยที่อธิบายในข้อกฎหมายต่อสาธารณชนไม่ได้ มันก็จะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานต่อสิ่งที่เป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้ ซึ่งนั่นถือเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงมีคำถามต่อไปว่า ระหว่างการจัดการปัญหาด้วยตัวเองแล้วท่านผู้นำเสียรังวัดกับรอให้จบที่องค์กรตีความ จะทำให้องค์กรเหล่านั้นเสียหายหรือไม่

ความจริงหากย้อนกลับไปพิจารณากระบวนการดำเนินงานขององค์กรอิสระหลายแห่ง ในช่วงวิกฤติแห่งความขัดแย้ง จนกระทั่งการตกอยู่ภายใต้ร่มเงาของเผด็จการยึดอำนาจ หลายองค์กรก็ถูกมองอย่างกังขาจากสังคมไม่น้อย ภาพสีขาวที่เคยสร้างกันไว้ก่อนหน้าเริ่มจะกลายเป็นสีเทา บางจังหวะยังดูเหมือนเป็นสีดำเสียด้วยซ้ำไป ยิ่งใครได้ฟังคนในองค์กรบางแห่งสรรเสริญเยินยอหัวหน้าเผด็จการเสียด้วยแล้ว สังคมไทยคงหวังพึ่งพิงได้ยาก

ด้านฝ่ายค้านหลังจากตั้งท่ารอยื่นกระทู้ถามสดท่านผู้นำกับประเด็นดังว่ามาสองอาทิตย์ แม้คำตอบล่าสุดของคนที่ทำผิดพลาดจะเป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า ไม่มาตอบแล้วจนกว่าองค์กรตีความจะได้ข้อยุติ ฝ่ายค้านก็ไม่ละความพยายาม โดย จิรายุ ห่วงทรัพย์ จากเพื่อไทย ประกาศลั่นในสภาสัปดาห์หน้าจะตั้งกระทู้ถามสดพลเอกประยุทธ์ในประเด็นถวายสัตย์ฯ และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่กทม.เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

น่าสนใจไปกว่านั้น คงเป็นข้อหารือของจิรายุที่ว่าสภาผู้แทนราษฎร จะมีมาตรการหรือเขียนข้อบังคับให้มีบทลงโทษอย่างไร กรณีที่ผู้นำประเทศหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไม่มาตอบกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านเกิน 3 ครั้งขึ้น ปรากฏว่า ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง เห็นดีเห็นงามด้วย โดยบอกให้กรรมาธิการที่พิจารณาข้อบังคับการประชุมหารือและบรรจุประเด็นนี้ไปด้วย เพราะคนเป็นประธานก็ลำบากใจเนื่องจากการวินิจฉัยในที่ประชุมต้องเป็นไปตามข้อบังคับเท่านั้น

คงไม่ต่างจากคำเตือนของ ชวน หลีกภัย ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติที่ส่งไปถึงผู้นำฝ่ายบริหาร การไม่มาตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้านไม่ได้มองว่าไม่ให้ความสำคัญกับสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องมีเหตุผลของการไม่มาตอบและต้องแจ้งให้สภาฯได้รับทราบ เป็นคำเตือนที่นิ่มนวล แต่แฝงไปด้วยความเป็นห่วงในเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะมีเสียงปริ่มน้ำ ความพ่ายแพ้ต่อการโหวตเรื่องข้อบังคับข้อ 9(1) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างให้เห็น แม้จะอ้างโน่นอ้างนี่กันก็ตาม

ความวัวยังไม่ทันหาย ชวนเพิ่งเตือนไปและวิปรัฐบาลเพิ่งเคาะกันเมื่อวันอังคาร พรรคร่วมรัฐบาลต้องทำความเข้าใจกับส.ส.ในสังกัดให้ดีอย่าให้เกิดเรื่องซ้ำรอยอีก แต่ดูท่าจะไม่เป็นผลเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา ฝ่ายรัฐบาลพ่ายแพ้เสียงของฝ่ายค้านอีกกระทอก หนนี้ไม่ใช่แค่ 1 เสียงแต่พ่ายแพ้ขาดลอย 234 ต่อ 223 กับการโหวตร่างข้อบังคับการประชุมฯ ในข้อ 13 ว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร

โดยกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอให้ตัดถ้อยคำการพ้นสภาพเพราะเหตุอื่นใด ให้มีเพียงถ้อยคำที่ว่า พ้นสภาพโดยสภาสิ้นอายุหรือสภาถูกยุบ เหตุที่เสนอให้มีการตัดถ้อยคำดังกล่าวเนื่องจากเป็นคำที่สะท้อนให้นึกถึงการยึดอำนาจหรือการรัฐประหาร แน่นอนว่าฝ่ายแพ้โหวตอาจอ้างได้ว่าประเด็นนี้ถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.อันเนื่องมาจากความเกี่ยวพันกับการต่อต้านหรือไม่เอารัฐประหาร แต่ไม่น่าจะใช่ข้อแก้ตัวสำหรับรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำที่เพิ่งกำชับให้ขันน็อตกันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม คำแก้ตัวของเลขาฯ วิปรัฐบาล ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ดูจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและไม่รู้ว่าผู้มีอำนาจสูงสุดจะพอใจหรือไม่ ด้วยข้ออ้างที่ว่าส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไปกินข้าวทำให้ไม่ได้เสียงเรียกลงมติ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเพิ่งแถลงข่าวไปในช่วงบ่ายวันเดียวกันด้วยการนำเอาวิทยุทรานซิสเตอร์ 10 เครื่องไปวางตามจุดต่าง ๆ ของรัฐสภาใหม่เพื่อให้สมาชิกได้ยิน เพื่อเป็นการประชดระบบกระจายเสียงของสภาใหม่ที่พรรคสืบทอดอำนาจกล่าวหาว่าไม่ได้เรื่อง

คงต้องรอดูหลังจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคสืบทอดอำนาจ จะเข้าพรรคไปทำงานเต็มตัวในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ นอกจากขจัดปัญหากลุ่มมุ้งและคุมเกมภายในพรรคตัวเองแล้ว จะมีบารมีมากพอในการที่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีความแน่นแฟ้นและเป็นปึกแผ่นได้หรือไม่ กรณีนี้ปล่อยไว้นานไม่ได้เพราะกฎหมายสำคัญอย่างร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 กำลังจ่อเข้าสภาในเดือนตุลาคมนี้

แต่สิ่งหนึ่งซึ่งทำให้พรรคแกนนำรัฐบาลอาจไม่เดือดเนื้อร้อนใจ คงเป็นคำพูดของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า มือประสานสิบทิศที่พูดถึงเสียงปริ่มน้ำว่า “เสียงของรัฐบาลไม่ได้มีเท่านี้ยังมีเพิ่มเข้ามาอีก” หากไปถามว่าจะมาจากไหนคำตอบที่ได้คงไม่พ้นเมื่อผลงานของรัฐบาลปรากฏ แต่คนส่วนใหญ่มองไปอีกทาง กล้าการันตีกันขนาดนี้คงเป็นเพราะมี “งูเห่าชั่วคราว” อยู่ใต้อาณัติแล้วใช่หรือไม่ นี่ก็เป็นอีกปัญหาของพรรคฝ่ายค้านที่ส.ส.บางคนก็ยังเห็นผลประโยชน์ส่วนตัวสำคัญกว่าอุดมการณ์ หลักการ

เห็นการทำงานของกรรมการยุทธศาสตร์คนใหม่จากพรรคสืบทอดอำนาจที่ตั้งไว้เพื่อโต้ตอบฝ่ายค้านโดยเฉพาะ ที่ชื่อ ปารีณา ไกรคุปต์ รู้สึกเหนื่อยใจแทน วันวานออกมาตอบโต้ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ตั้งกระทู้ถามสดท่านผู้นำ คำพูดของส.ส.หญิงรายนี้หาได้มีประเด็นที่จะไปหักล้างหลักการอันหนักแน่นของคู่กรณีไม่ กลายเป็นมวยคนละชั้น มันสมองคนละรุ่น ถ้าพรรคที่อ้างเรื่องการปฏิรูปการเมืองทำได้แค่เท่านี้ ก็น่าสงสารบ้านเมือง

Back to top button