พาราสาวะถี
ฝ่ายค้านถือโอกาสที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธมาตอบกระทู้ถามสดปมนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 โดยการอ้างว่ารอกระบวนการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสร็จสิ้นก่อน รวบรวม 214 รายชื่อยื่นต่อ ชวน หลีภภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ พ่วงด้วยปมปัญหาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ให้ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162
อรชุน
ฝ่ายค้านถือโอกาสที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธมาตอบกระทู้ถามสดปมนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 โดยการอ้างว่ารอกระบวนการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดินให้เสร็จสิ้นก่อน รวบรวม 214 รายชื่อยื่นต่อ ชวน หลีภภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ พ่วงด้วยปมปัญหาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ให้ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162
งานนี้ประธานสภาฯ ยอมรับถือเป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้าจะมีแต่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างไร้ปัญหาก็คาดว่าจะสามารถเปิดอภิปรายได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ถ้าเป็นไปตามนั้นก็คงต้องรอดูมือกฎหมาย เนติบริกรล้อมรอบท่านผู้นำว่าจะแก้เกมเรื่องเหล่านี้อย่างไร ต้องอย่าลืมเป็นอันขาดว่า อดีตประธานร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศ แม้จะพ้นหน้าที่ไปแล้วแต่ผู้มีอำนาจยังคงปรึกษาหารืออยู่เป็นประจำ
แต่การมายื่นญัตติของฝ่ายค้านรอบนี้ ชวนจึงถือโอกาสตีวัวกระทบคราดไปถึงท่านผู้นำฝ่ายบริหาร ในทำนองต้องให้ความร่วมมือกับฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่านี้ ด้วยการตีแสกหน้าเรื่องการตอบกระทู้ถามสดว่า นายกฯ ควรต้องมาตอบ เพราะการไม่มาชี้แจงต่อสภาตามหลักการต้องแจ้งถึงเหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 150 กำหนด หากครม.เห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงก็ต้องแจ้งมา เนื่องจากก่อนหน้านี้พลเอกประยุทธ์ไม่เคยแจ้งเหตุผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมายังสภาฯ เลย
ถือว่าใบมีดโกนอาบน้ำผึ้งบอกกรายๆ ไปยังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่า อย่าเห็นสภาผู้แทนราษฎรเป็นหัวหลักหัวตอ เพราะมันหมดยุคสภาสั่งได้ไปแล้ว ยิ่งหากไม่มีการแจ้งเหตุของการไม่มาตอบกระทู้ถามสดของฝ่ายค้านที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระวังว่าจะมีคนโยงไปถึงเหตุผลที่ท่านผู้นำกล่าวคำถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนด้วยว่าเห็นเจตนาหรือไม่ เพราะประโยคที่ขาดหายไปคือ “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
หรือเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ตัวเองเป็นคนตั้งคณะกรรมการยกร่างและสั่งให้เขียนขึ้นมาเอง อย่าได้มาบังคับให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคงไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะตัวท่านเองก็เป็นคนที่ตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าคนไทยทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้จะเป็นคนที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่ก็ไม่เคยใช้ไปรังแกใคร ทุกอย่างว่ากันตามกระบวนการยุติธรรมทุกประการ
พิจารณาสถานการณ์ที่เป็นไปประกอบกับบทสัมภาษณ์ล่าสุดของเนติบริกรข้างกายท่านผู้นำ เรื่องนี้คงอ้างผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขีดเส้นไว้แล้วว่า ผู้นำจะต้องชี้แจงเรื่องที่มีผู้ยื่นร้องให้ตรวจสอบภายใน 15 วันอย่างช้าคือไม่เกินสิ้นเดือนนี้จะมีคำตอบจากฝ่ายผู้ตรวจการ ดังนั้น จึงเงียบไว้ก่อน แต่อย่าหวังว่าเลือกวิถีสงบแล้วจะสยบความเคลื่อนไหวได้ การเดินเกมของฝ่ายค้านด้วยการยื่นญัตติแบบนี้ ย่อมมีประเด็นให้พูดได้ทุกวันและยิ่งจะมีแนวร่วมเรียกร้องเพิ่มขึ้น
เท่าที่เริ่มขยับ เช่น ณัฏฐา มหัทธนา หรือ ครูโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กจี้ท่านผู้นำปมนายกฯ ถวายสัตย์ฯ ขัดรัฐธรรมนูญนั้นชัดเจนว่าขัดมาตรา 161 ซึ่งชอบธรรมที่สังคมจะพูดและเรียกร้องทั้งความรับผิดชอบต่อตำแหน่ง และความรับผิดชอบตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ครูโบว์ก็เรียกร้องต่อว่า อย่าได้มีความพยายามดันเรื่องนี้ให้ไปถึงเป็นเรื่องความผิดตามมาตรา 112 เพราะจะเกินเลยไปและไม่เป็นธรรม
แต่ที่ตอกลิ่มและทำให้เห็นความจำเป็นที่พลเอกประยุทธ์จะต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ คงเป็นประเด็นที่ว่าต่อให้พรุ่งนี้นายกฯ ไปขอพระราชทานอภัยโทษและเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ สิ่งที่ครม.ทำไปทั้งหมดตั้งแต่วันแถลงนโยบาย คำสั่งครม. การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ก็ต้องถือเป็นโมฆะแล้วถูกย้อนกลับไปทำใหม่ ดังนั้น ต้องรีบแก้ไขเสียตั้งแต่วันนี้ สิ่งที่ต้องกลับไปทำใหม่จะได้ไม่มีมากไปกว่านี้ จี้ประเด็นนี้เหมือนเป็นการชี้ชวนให้มือกฎหมายฝ่ายรัฐบาลต้องออกมาอธิบาย
อย่างไรก็ตาม ไม่เฉพาะครูโบว์เท่านั้นที่มองด้วยความห่วงใย ไทกร พลสุวรรณ อดีตแกนนำกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ ก็ออกมากระทุ้งแรง ๆว่า เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 (1) บ่วงที่ 1 การถวายสัตย์ปฏิญาณที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 161 (2) บ่วงที่ 2 ขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ขัดกับคำวินิจฉัยที่ 6/2559 ของศาลรัฐธรรมนูญ พลเอกประยุทธ์ต้องรีบปลดบ่วงรัดคอก่อนจะตายยกก๊วน
น่าเห็นใจไม่น้อยกับภาวะที่ต้องเผชิญรอบนี้ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เพราะเนติบริกรสีข้างถลอกก็ไปต่อไม่เป็น เนื่องจากจำนนด้วยหลักฐานที่ตัวเองเป็นคนเขียนด้วยลายลักษณ์อักษรไว้เอง ดังนั้น ภาระต่อไปจึงตกไปอยู่บนบ่าของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะเดินหน้าต่อทางไหนหรือจะไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ซึ่งอย่างหลังไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะนั่นเท่ากับจะเป็นการพลีชีพในลักษณะระเบิดฆ่าตัวตาย จึงต้องเลือกว่าจะโยนเผือกร้อนนี้ไปอยู่ในมือองค์กรไหนดีระหว่างศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง
ขณะที่ผู้นำฝ่ายบริหารประสบชะตากรรมอันมาจากความผิดพลาด พรรคแกนนำรัฐบาลก็กำลังประสบความยุ่งยากจากการบริหารจัดการเสียงส.ส.ในสภา ความพ่ายแพ้ต่อฝ่ายค้านจากการโหวต 2 หน เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า กับดักที่บรรดานักกฎหมายผู้รับใช้เผด็จการทั้งหลายได้เขียนขึ้นมานั้น ได้แว้งกลับมาสร้างความยุ่งยากให้กับองคาพยพเผด็จการสืบทอดอำนาจชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และหนทางข้างหน้าดูเหมือนว่าจะต้องควักจ่ายเพื่อซื้อเสถียรภาพกันอีกบานเบอะ
เห็นด้วยกับความเห็นของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงที่ออกมาให้ความเห็นวันก่อน ที่เจ็บปวดคือการเมืองไร้เสถียรภาพแบบนี้ กลับเป็นเรื่องที่ฝ่ายสืบทอดอำนาจต้องการ เขียนกติกาและทำทุกอย่างก็เพื่อให้การเมืองในระบบอ่อนแอ อำนาจนอกระบบและเครือข่ายจึงยังมีอิทธิพลอยู่ได้ ซึ่งนี่ไม่ใช่การปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง แต่เป็นปฏิกูลที่อยู่ในระบบเลือกตั้ง