การบินไทย..ไร้เสี่ยงล้มละลาย
ช่วงนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI หรือ “เจ้าจำปี” ต้องเจอ “เจ้ากรมข่าวลือ” ที่อาศัยสื่อสังคมออนไลน์ เป็นที่ระบายข่าวลือกันไปทั่วถึงสถานะความไม่มั่นคงของการบินไทย ปัญหาหนี้สิน 156,000 ล้านบาทจากแผนการซื้อเครื่องบิน 38 ลำ เลวร้ายไปกว่านั้นคือลือกันว่า “การบินไทยใกล้ล้มละลาย”..!!
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
ช่วงนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI หรือ “เจ้าจำปี” ต้องเจอ “เจ้ากรมข่าวลือ” ที่อาศัยสื่อสังคมออนไลน์ เป็นที่ระบายข่าวลือกันไปทั่วถึงสถานะความไม่มั่นคงของการบินไทย ปัญหาหนี้สิน 156,000 ล้านบาทจากแผนการซื้อเครื่องบิน 38 ลำ เลวร้ายไปกว่านั้นคือลือกันว่า “การบินไทยใกล้ล้มละลาย”..!!
ทำให้การบินไทย..ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้อยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย เนื่องจากมีสถานะการเงินที่ดี โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินลดลงคือหนี้สินระยะยาวลดลงประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนหนี้สินรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงประมาณ 3,000 ล้านบาท จากหนี้สินรวม (งวดสิ้นสุด 30 มิ.ย. 61) อยู่ที่ 248,264 ล้านบาท เทียบงวดสิ้นสุด (30 มิ.ย. 62) อยู่ที่ 245,447 ล้านบาท
ขณะที่การบินไทย มีทุนจดทะเบียนเพียง 26,989 ล้านบาท น้อยกว่าสายการบินชั้นนำ ในระดับเดียวกัน ทั้งเจแปนแอร์ไลน์ มีทุนจดทะเบียน 52,443 ล้านบาท ออล นิปปอน แอร์เวย์ มีทุนจดทะเบียน 92,187 ล้านบาท และคาเธ่ย์ แปซิฟิค มีทุนจดทะเบียน 68,032 ล้านบาท
แต่ความสามารถกำลังการผลิตของทุนจดทะเบียน การบินไทย สามารถผลิตภายใต้สัดส่วนผลผลิต (ASK) ต่อทุน ได้มากกว่าคาเธ่ย์ แปซิฟิค 3 เท่า ออล นิปปอน แอร์เวย์ 6 เท่า และเจแปนแอร์ไลน์ 12 เท่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่บริษัทต้องใช้เครื่องมือทางการเงินคือ“เงินกู้” เพื่อการขยายงาน
ที่สำคัญไม่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงิน มี TRIS Credit Rating ที่ A Stable Outlook จึงมีความสามารถในการชำระหนี้ และ Roll Over ได้ การใช้วิธี Roll Over หุ้นกู้และมีเงินกู้ระยะสั้น ถือเป็นเทคนิคของการบริหารจัดการทางการเงิน
ส่วนครึ่งแรกปี 2562 มีผลกระทบต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้รายได้ลดลง อาทิ ปริมาณการผลิต (ASK) ลดลง 4% รายได้ลดลง 2,592 ล้านบาท จากความล่าช้าการซ่อมเครื่องยนต์ อัตราแลกเปลี่ยน (FX) 3.6% รายได้ลดลง 2,333 ล้านบาท การปิดน่านฟ้าปากีสถาน กระทบรายได้ 0.2% ทำให้รายได้ลดลง 153 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 1.2% รายได้ลดลง 795 ล้านบาท เป็นผลพวงจากเงินบาทแข็ง
ส่วนแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำ (รัฐบาลยังไม่อนุมัติในการจัดหา) การบินไทยจึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงิน 156,000 ล้านบาท หรือหากครม.อนุมัติต้องมาวางแผนการจัดหาก่อน เท่ากับว่าการจัดหาเงินจะเป็นแค่ส่วนเงินมัดจำเท่านั้นที่สำคัญการได้มาของเครื่องบินใช้เวลาประมาณ 2 ปี กว่าจะมีการส่งมอบเครื่องบินใหม่คือช่วงปี 2563-2565
ที่สำคัญการบินไทย ไม่ได้มีข้อตกลงไว้ก่อนกับผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่ายแต่อย่างใด โดยเงินทุนการจัดหาเครื่อง บิน ต้องมีสถานะการเงินที่ไม่ควรซื้ออาจใช้วิธีเช่าซื้อ เช่าดำเนินการ นั่นเปรียบเสมือนการแบ่งจ่าย ส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาการแบ่งจ่าย 12 ปี
ดังนั้นการได้มาซึ่งเครื่องบินจึงไม่เป็นภาระต่อสถานะการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเครื่องบินที่อยู่ในฝูงบิน จำนวน 103 ลำ ณ ปัจจุบัน และถ้าไม่ปลดระวางจะมีความจำเป็นต้องซ่อมใหญ่ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงสูงมาก และไม่คุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ซื้อเครื่องบินใหม่
ส่วนผลกระทบจากการเปิดน่านฟ้าเสรี การบินไทยยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านนโยบายการเปิดน่านฟ้าเสรี หากแต่มีข้อพึงกังวลถึงความเท่าเทียมกัน เรื่องการแข่งขันในประเทศภายใต้ธุรกิจการบิน เพราะอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าก่อนหรือหลังนโย บายการเปิดน่านฟ้าเสรี การบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ไม่เคยได้รับการสงวนสิทธิ์ให้เป็นผู้ผูกขาดการบินหรือเอกสิทธิ์อื่นใด
แต่ทว่า..สายการบินแห่งชาติหลายประเทศได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ในฐานะสายการบินแห่งชาติของอุตสาหกรรมการบินในประเทศนั้น ๆ
นี่คือ..ส่วนหนึ่งในข้อมูลสาระสำคัญจากการบินไทย ที่ต้องสื่อสารให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดตามสื่อสังคมออนไลน์..นั่นเอง