เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น?
เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าคำแถลงการณ์ครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้หรือไม่และอย่างไร จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้ามาแก้ไขโครงสร้างหรือไม่
Cap & Corp Forum
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1012 กำหนดว่า สัญญาจัดตั้งบริษัท คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น และมาตรา 1098 (3) กำหนดว่าหนังสือบริคณห์สนธิต้องมีรายการวัตถุที่ประสงค์ทั้งหลายของบริษัท ซึ่งหากท่านผู้อ่านที่คุ้นเคยกับเอกสารจดทะเบียนของบริษัทจะทราบว่าวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่แต่ละบริษัทกำหนดนั้นจะว่าด้วยเรื่อง “การประกอบธุรกิจ” ทั้งสิ้น ว่าอะไรบ้างที่บริษัททำได้
เมื่อสัญญาจัดตั้งบริษัทมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเพื่อ “การหากำไร” ดังนั้นบริษัทจึงมีหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นในการปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ตกลงกันนั้น ผ่านการดำเนินงานของกรรมการบริษัทเพื่อสร้างผลกำไรให้องค์กรและนำมาตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ในส่วนผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียโดยชอบในบริษัท (equity holder) ก็มีอำนาจในการครอบงำกิจการของบริษัทผ่านการประชุมของผู้ถือหุ้นในเรื่องที่ข้อบังคับของบริษัทหรือกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของผู้ถือหุ้น อาทิ เช่น การเพิ่มหรือลดทุน และการแต่งตั้งกรรมการ เป็นต้น
ในประเทศที่ใช้ระบบทุนนิยมหรือ capitalism โดยทั่วไป บริษัทจึงเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแสวงหาผลกำไรสูงสุด (profit maximisation) และบริษัทจึงมีหน้าที่ต้องดำเนินงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Shareholder Primacy” (หรือบางครั้งก็อาจเรียกว่า Shareholder-Centered หรือ Shareholder Supremacy ก็มี) เนื่องจากบริษัทเป็นบุคคลสมมติหรือนิติบุคคล และถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลงทุนและการกระจายความเสี่ยง ดังนั้น หลักการแสวงหาผลกำไรสูงสุดจึงเป็นแก่นหรือหัวใจขององค์กรประเภทนี้มาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสามารถตรวจสอบการดำเนินงานว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
ความเป็นองค์กรแสวงหากำไรของบริษัทมิได้หมายความว่าบริษัทจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว (homo economicus) โดยไม่สนใจไยดีต่อปัจจัยทางสังคมต่าง ๆ อาทิ ความเป็นธรรมทางการค้ากับคู่ค้าและผู้บริโภค การจ้างงานและใช้แรงงานที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน หรือประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นเหล่านี้ในทางหลักการบรรษัทภิบาล (corporate governance principle) ที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเรื่องภายนอกองค์กร (external to the firm) กล่าวคือ ควรให้เป็นหน้าที่ของรัฐผ่านระบบการกำกับดูแลหรือกลไกตลาดอันเนื่องมาจากสภาพการแข่งขันที่จะกำหนดว่าอะไรที่บริษัทควรทำหรือไม่ควรทำ หรืออะไรที่ทำแล้วจะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันหรือสามารถเอาชนะใจของผู้บริโภคได้
ตัวอย่างหนึ่งของโครงสร้างบรรษัทภิบาลที่นำปัจจัยภายนอกมารวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบภายในบรรษัทภิบาลและการบริหารจัดการองค์กรคือ ระบบบรรษัทภิบาลของประเทศเยอรมนี (Germany’s two-tier board structure) ที่กำหนดให้ตัวแทนพนักงาน (ที่ปกติจะไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการบริษัท) เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการของบริษัทร่วมกับตัวแทนของผู้ถือหุ้น แต่ระบบดังกล่าวไม่ได้รับความนิยมในประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป และหลาย ๆ บริษัทในเยอรมนีเองก็เลือกที่จะย้ายไปจดทะเบียนจัดตั้งในประเทศอื่น ๆ ของสหภาพยุโรปแทน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของการมีตัวแทนของพนักงานในโครงสร้างการบริหารงานของบริษัท
ปัญหาสำคัญในเชิงหลักการของการที่กำหนดให้บริษัทมีวัตถุประสงค์หรือเป้าประสงค์หลายประการในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างภายในองค์กรคือ การตรวจสอบการบริหารงานว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ เพราะวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ย่อมมีความขัดแย้งกันโดยสภาพ อาทิ ความต้องการของพนักงานอาจขัดกับผู้ถือหุ้น ความต้องการกำไรของผู้ถือหุ้นอาจขัดกับประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้น การปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เป็นการกำกับดูแลจากภายนอก และให้บริษัทคงวัตถุประสงค์เพื่อการแสวงหากำไรเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้นทั้งหลาย (ในฐานะเจ้าของเงินลงทุน) จึงอาจเป็นวิธีการที่กำกับต้นทุนและควบคุมการดำเนินงานได้อย่างดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างบรรษัทภิบาลในแบบทุนนิยมดังกล่าวที่มี “Shareholder Primacy” เป็นหลักการสำคัญก็ถูกโต้แย้งเรื่อยมา กล่าวคือ มีความพยายามนำเสนอแนวคิดและหลักการเพื่อให้เห็นว่าบริษัทควรนำปัจจัยเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ (stakeholders) ไม่ใช่แต่ผู้ถือหุ้น (shareholders) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างบรรษัทภิบาลขององค์กร (internal to the firm)
การโต้แย้งหลัก “Shareholder Primacy” ปรากฏเป็นรูปธรรมอีกครั้ง ผ่านการแถลงการณ์ของกลุ่มบริษัทชั้นนำในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมาในเวที Business Roundtable (“BRT”) ที่เสนอให้ผู้ถือหุ้นเป็นเพียงหนึ่งในห้าของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทเท่านั้น โดยผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ประกอบด้วย ลูกค้า พนักงาน คู่ค้า และชุมชนซึ่งหมายความรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยคำแถลงการณ์ของกลุ่ม BRT ดังกล่าวลงนามโดยบริษัทชั้นจำนวน 181 บริษัท อาทิ JPMorgan, Apple, Amazon, General Motors, AT&T, Bank of America, Boeing, BP, Cisco, PepsiCo, Pizer, UPS และ Walmart ฯลฯ เป็นต้น ในขณะที่ในปี 1997 กลุ่ม BRT ได้ออกแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า “the paramount duty of management and of boards of directors is to the corporation’s stockholders” และแถลงการณ์ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มนี้ก็ยืนยันหลักการนี้ (Shareholder Primacy) มาโดยตลอด
คำแถลงการณ์ครั้งนี้จึงเป็นการเปลี่ยนจุดยืนและหลักการที่ยอมรับร่วมกันมาอย่างยาวนาน ดูเสมือนว่า BRT จะใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและไม่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าคำแถลงการณ์ครั้งนี้จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้หรือไม่และอย่างไร จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมายเข้ามาแก้ไขโครงสร้างหรือไม่ และจะส่งผลต่อรูปแบบการลงทุนและความเติบโตของตลาดทุนไปในทิศทางใด
…
ศุภวัชร์ มาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship,
American University Washington College of Law