เผด็จการที่ชาญฉลาดพลวัต2015
สังคมไทยซึ่งคนในสังคมส่วนใหญ่เลือกจะเสแสร้งกับจุดยืนทางการเมือง ปากก็เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติ เอียงข้างอำนาจนิยมและเผด็จการในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาทางลัด ดังนั้น แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่อยากให้ใครเรียกตนเองว่าเป็นเผด็จการ ก็คงต้องกล้ำกลืนรับความจริงว่า ได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร
สังคมไทยซึ่งคนในสังคมส่วนใหญ่เลือกจะเสแสร้งกับจุดยืนทางการเมือง ปากก็เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ในทางปฏิบัติ เอียงข้างอำนาจนิยมและเผด็จการในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาทางลัด ดังนั้น แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่อยากให้ใครเรียกตนเองว่าเป็นเผด็จการ ก็คงต้องกล้ำกลืนรับความจริงว่า ได้อำนาจมาโดยการรัฐประหาร
โจทย์ใหญ่ของพลเอกประยุทธ์ ไม่ได้อยู่ที่ว่าเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยอย่างเดียว แต่อยู่ที่ว่าได้อำนาจมาแล้ว จะทำประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด
ในประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของยุโรป มีคนเรียกผู้นำจอมเผด็จการทั้งหลายว่า เป็นผู้ที่ใช้อำนาจอย่างชาญฉลาด และเรียกระบบอำนาจนั้นว่า ระบบทรราชที่ชาญฉลาด (Enlightened Despotism) โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ และผู้นำเหล่านั้น เช่น พระนางคัธรีนมหาราชินีของรัสเซีย กษัตริย์เฟรเดอริกมหาราชของปรัสเซีย และราชินีมาเรีย เทเรซ่าของออสเตรีย-ฮังการี ก็กลายเป็นต้นแบบที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งของคนในชาติ ไม่ได้มีกังขาอะไร
พลเอกประยุทธ์จะเป็นแบบนั้นได้หรือไม่ ประวัติศาสตร์คงจะให้คำตอบได้ ไม่ใช่ในปัจจุบัน แต่เงื่อนสำคัญคือผลงานของพลเอกประยุทธ์เองจะตัดสินเรื่องดังกล่าวว่าเป็นได้หรือไม่
การตัดสินใจอันชาญฉลาดของพลเอกประยุทธ์เมื่อวานนี้ ในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานนั่งหัวโต๊ะ มีการพิจารณาเรื่องการประมูลคลื่นมือถือ 4G ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ควรแก่การชื่นชมอย่างแท้จริง
ดังที่ทราบกันดี เดิมที กสทช. ได้กำหนดให้การประมูลคลื่นความถี่ 4G ดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
– คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งหมดสัญญาสัมปทานไปตั้งแต่ 15 ก.ย. 2556 จะนำมาจัดสรรเป็นใบอนุญาตใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาต 12.5 MHz ราคาเริ่มต้นประมูลที่กำหนดไว้เดิมตั้งแต่ปี 2557 คือ 11,600 ล้านบาทต่อใบอนุญาต
– กำลังพิจารณาทบทวนเพื่อประมูล ปรับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz เป็น 20 MHz เป็นใบอนุญาต 4G ใหม่ แบ่งเป็นใบอนุญาตละ 10 MHz
กระบวนการดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ล่าช้าอย่างมาก ค่อนข้างจะสอดรับกับเสียงวิจารณ์ที่ว่าถนัดทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่มากเป็นพิเศษ เพราะทำงานในลักษณะ “เข้าสู่โลกดิจิตอล แต่ทำงานแบบอะนาล็อก” ซึ่งนอกจากทำให้ล่าช้า ไม่ทันการณ์กับความจำเป็นแล้ว ยังไปเข้าทางบริษัทโทรคมนาคมบางรายที่มี 4G1 อยู่เดิมแล้ว เพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคจากการแข่งขันที่ต่ำ
เพื่อให้กระบวนการรวดเร็วยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีที่นั่งหัวโต๊ะ เลยตัดสินใจให้ที่ประชุมคณะกรรมการฯดังกล่าว มีมติออกมาว่า ให้ปรับเพิ่มขนาดใบอนุญาตให้บริการ 4G สำหรับคลื่น 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตที่ กสทช.กำลังเตรียมการเพื่อเปิดประมูลในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเห็นว่าควรเพิ่มเป็นรายละ 15 MHz จากเดิมกำหนดไว้ที่ 12.5 MHz จะไม่มีการเพิ่มจำนวนใบอนุญาตจากที่กำหนดไว้ 2 ใบอนุญาต แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการหลายรายสนใจเข้าประมูล
สำหรับขนาดคลื่นที่เพิ่มขึ้นจะมาจากความถี่ขนาด 5 MHz ที่ กสทช.จะได้รับคืนจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการส่งมอบ หลังจากที่เจรจากันแล้ว
พูดสั้นๆ พลเอกประยุทธ์อาจจะไม่รู้เรื่อง 4G ทั้งหมด แต่รู้ว่าควรจะจัดการกับนโยบายดิจิตอลของประเทศดีกว่า กสทช. ซึ่งถือว่าเป็นคุณูปการที่ต้องยอมรับ
ความจำเป็นของการมีเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า 4G (ที่ถูกต้องคือ(4G+LTE) ซึ่งถือเป็นขั้นตอนล่าสุดของการพัฒนาด้านโทรคมนาคมที่เชื่อมโยงสังคมไทยเข้ากับสังคมโลกออนไลน์ เป็นความเรียกร้องต้องการของผู้ประกอบการไทยจำนวนมาก ที่แสวงหาเทคโนโลยีดิจิตอลทั้ง voice และ non-voice ได้อย่างรวดเร็วที่มีคุณภาพและมีต้นทุนต่ำ
ความโดดเด่นของเทคโนโลยี 4G+LTE อยู่ที่สามารถรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์ ทำให้เรื่องการสื่อสารทางเสียงเป็นรอง และการตอบสนองของเครื่องลูกข่าย ทำได้ดีกว่า 3G+LTE มาก เช่นในสถานที่ที่หนาแน่น อย่างงานคอนเสิร์ต หรือ สถานที่ที่ผู้คนรวมตัวกันจำนวนมาก โดยไม่ต้องกังวลกับเรื่องของเสียง ทำให้การรับส่งข้อมูล เร็ว ไหลลื่นไม่มีสะดุด
ความสำเร็จและอุปสรรคของ 4G+LTE ไม่ได้อยู่ที่ตัวเทคโนโลยี แต่อยู่ที่การสร้างสาธารณูปโภคเพื่อให้เป็นระบบแบ็กอัพการใช้ประโยชน์ โดยมีแกนกลางคือ นโยบายและการกำกับดูแลของภาครัฐที่จะชี้ขาดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล
กระบวนทัศน์ของหน่วยงานกำกับดูแลภาครัฐที่มีเป้าหมายหลักต้องบรรลุให้ได้คือ การเป็น e-government ซึ่งที่ผ่านมา กสทช.ทำไม่ได้ดีเพียงพอ
การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์แม้จะเป็นเพียงเรื่องเดียวในจำนวนหลายพันเรื่อง จึงเป็นคุณูปการที่สะท้อนว่า การมีเผด็จการนั้น ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป หากเผด็จการนั้นชาญฉลาดอย่างมาก
เพียงแต่เรื่องอื่นๆ พลเอกประยุทธ์ ควรจะทำให้ได้ดีเหมือนเรื่องนี้ด้วย และทำให้มากๆ โดยมุ่งประโยชน์ของประเทศในระยะยาวเป็นที่ตั้ง ไม่หลงเพลินไปกับป่ากว้างของคำเยินยอ หรือสอพลอของบรรดาลิ่วล้อ ที่มักชักนำให้ผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จกลายเป็นตัวตลกหรือแกะที่หลงทางได้ง่ายมาก