หุ้น ดิจิตอลทีวีลูบคมตลาดทุน

ปัญหาของ “ดิจิตอลทีวี” เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น


ธนะชัย ณ นคร

 

ปัญหาของ “ดิจิตอลทีวี” เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น

กรณีของ “ไทยทีวี” ในเครือทีวีพูล เป็นปัญหาฉากแรกของธุรกิจนี้เท่านั้น และเชื่อว่าจะมีรายอื่นๆ ตามมาอีก

ในช่วงนี้ ดิจิตอลทีวีหลายช่องต่างกำลังปรับผังกันใหม่

เช่น ไทยรัฐทีวี ทางช่อง 32 HD และ สปริงนิวส์ ทางช่อง 19 ฯลฯ

การปรับผังที่เกิดขึ้น เป็นการปรับผังในช่วงกลางปีที่จะต้องมีการปรับอยู่แล้ว แต่อาจเป็นการปรับเล็กๆ (หรือปรับใหญ่ก็ได้) เพราะโดยปกติการปรับใหญ่ก็จะปรับกันในช่วงปลายปี

ในช่วงนี้ดิจิตอลทีวีแต่ละช่องต่างพยายามหา “จุดขาย” ของตัวเองให้ได้

ต้องหาให้ถูกว่า “ทาง” ที่จะต้องเดินไปนั้นอยู่ตรงไหน

ของแบบนี้ซี้ซั้วไม่ได้

เงินที่นำมาใช้ในการประมูลเป็นหลักร้อยล้าน หลายพันล้านบาทเชียวล่ะ

บางรายการที่ถูกตัดออกไป มีหลายคนสงสัยว่า ทั้งที่เรตติ้งดี แต่ทำไมถูกปรับออก หรือถูกย้ายช่วงเวลา ย้ายวัน ซึ่งคำตอบก็คือ ยังดีไม่เพียงพอ หรือเรตติ้งดี แต่ไม่มีโฆษณาเข้า หรือรายได้เข้ามายังไม่มากพอ

บางช่วงรายการอยู่ในช่วงของซูเปอร์ไพรม์ไทม์ เรตติ้งควรจะต้องดีกว่านี้ และอีกหลายเหตุผล

ก็เลยต้องรื้อ และปรับผังกันใหม่

ก่อนหน้านี้ เคยบอกแล้วว่า การทำสื่อโดยเฉพาะดิจิตอลทีวีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่รายการดี เรตติ้งสูง

ทว่า “สายป่าน” ต้องยาว เงินในกระเป๋าต้องเยอะ (หรือทุนหนามากๆ) คอนเน็กชั่นต้องเจ๋งจริงๆ ไม่อย่างนั้นโอกาสที่จะดึงเม็ดเงินโฆษณามาเข้ารายการนั้น มันยากมากๆถึงยากที่สุด

ผ่านมาถึงวันนี้ ดูเหมือนดิจิตอลทีวีหลายช่อง เหมือนจะเริ่มคลำหาหนทางของตัวเองเจอ

ไทยรัฐทีวีจากเดิมเน้นข่าว ก็มีข่าวมาว่า ต่อไปจะมีรายการละครเข้ามาช่วยสร้างเรตติ้ง โดยจะให้ทางโพลีพลัสเข้ามาช่วยในตรงนี้

แต่การสร้างรายการละครกับการทำรายการข่าวนั้น

รายการหลังต้นทุนสูงกว่าเยอะ

แต่หากทำแล้วสร้างเรตติ้งและรายได้ได้จริง ก็น่าจะเป็นหนทางที่ต้องเดินหน้าไป

การหาหนทางของตัวเองได้เจออย่างรวดเร็วนั้น แน่นอนว่า นอกจากจะช่วยเพิ่มเรตติ้ง เพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับทางสถานีแล้ว

อีกทางหนึ่งก็สร้างความหวั่นไหวให้กับบรรดาทีวีค่ายเก่าด้วย

จากเม็ดเงินโฆษณาที่เข้าไปยังช่องหลัก จะพบว่า แม้จะไม่ปรับลดลง แต่ก็ไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

นั่นหมายความว่า ทีวีช่องเก่าๆ เหล่านั้น ต่างถูกแชร์แบ่งเม็ดเงินโฆษณาออกไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง หากยังประมาท และไม่ปรับกลยุทธ์ของตนเอง

ก็อาจพบกับจุดจบได้แบบง่ายๆ

ส่วนตอนนี้ที่ยังอยู่ได้ ส่วนใหญ่ยังอาศัยหรือกิน “บุญเก่า” กันอยู่

ช่อง 3 และช่อง 7 เชื่อว่า พวกเขาจะปรับตนเองได้ แต่ก็เหนื่อยมากกว่าเดิมพอสมควร หรือเหนื่อยอย่างมาก โดยเฉพาะช่อง 3 ที่จะต้องเลี้ยงทั้งช่อง 3 แฟมิลี่และช่อง 3 SD ไปด้วย

ยังไงก็ต้องหิ้วกันไปให้ตลอดรอดฝั่ง

ช่อง 3 หรือ BEC นั้น ยังมีจุดแข็งในรายการละครช่วงภาคค่ำ ที่ดูมีเม็ดเงินโฆษณาได้สูงสุด และเชื่อว่า ช่อง 3 เอง ก็พยายามที่จะให้จุดแข็งที่มีอยู่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ส่วนฟรีทีวีช่องเดิมๆ ที่เหลือ ต่างก็ถูกกินส่วนแบ่งตลาดจากทีวีช่องใหม่ๆ ในทุกๆ วัน สังเกตได้จากเรตติ้งประจำเดือนที่มีการทำกันออกมา มีทั้งแบ่งเป็นพื้นที่ทั่วประเทศ เฉพาะในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ต่างจังหวัด

รวมถึงเรตติ้งในช่วงซูเปอร์ไพรม์ไทม์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาในการโกยรายได้

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ จัดว่ามีนัยสำคัญอย่างมาก

สำหรับหุ้นในกลุ่มดิจิตอลทีวีในช่วงนี้ ยังค่อนข้างนิ่งๆ หรืออาจจะเคลื่อนไหวบ้าง ในช่วงที่เรตติ้งมีการขยับ

ไม่ว่าจะเป็น BEC และ TRUE

รวมถึงหุ้นที่เป็นเจ้าของดิจิตอลทีวีที่มีเรตติ้งในอันดับต้นๆ หรือท็อปเท็น เช่น RS, WORK, MONO และ GRAMMY

ส่วนหุ้น NEWS (เดิม SLC), AMARIN MCOT และ NMG นั้นมีมูลค่าการซื้อขายเข้ามาเป็นพักๆ หากมีสตอรี่ที่น่าสนใจเข้ามา

เข้าใจว่า ผ่านมาถึงวันนี้ น่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนแล้วล่ะ

ว่าหุ้นดิจิตอลทีวีตัวไหนน่าลงทุน

 

 

 

 

Back to top button