KTC แตก(ไลน์)เพื่อโต.!

ก่อนหน้านี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เคยเติบโตสูงถึง 40-50% ต่อปี ทำให้ถูกคาดหวังว่า จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง


สำนักข่าวรัชดา

ก่อนหน้านี้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เคยเติบโตสูงถึง 40-50% ต่อปี ทำให้ถูกคาดหวังว่า จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง

แต่ช่วงหลังมานี้ เริ่มเห็นอัตราการเติบโตของ KTC แคบลง…

นั่นอาจเป็นเพราะฐานลูกค้าใหญ่ขึ้น จำนวนลูกค้าใหม่เริ่มน้อยลง

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ให้ “ระเฑียร ศรีมงคล” ผู้บริหารที่ต้องหาช่องทางใหม่ ๆ ในการเติบโต…

เมื่อไม่สามารถสร้างลูกค้าใหม่จากบัตรได้เหมือนเก่า…KTC จึงหันมาเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าเก่ามากขึ้น ด้วยการเพิ่มบริการใหม่ ๆ เข้าไป เพื่อจูงใจให้ใช้บัตรเพิ่มมากขึ้น

ควบคู่กับการแตกไลน์ไปสู่ 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ โดยร่วมกับบริษัทแม่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ตั้งบริษัท เคทีซีนาโน จำกัด และบริษัท เคทีซี พิโก (กรุงเทพฯ) ขึ้นมาดำเนินการ โดยใช้ประโยชน์จากสาขาเดิมที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง

คาดจะเริ่มดำเนินการได้ภายในไตรมาส 3/62 นี้ โดยใช้เวลา 18-24 เดือน จึงจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามา

ส่วนธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้ชื่อ KTC พี่เบิ้ม” เริ่มดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

เป็น 3 เรือธงใหม่ที่ KTC หวังสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป…

อีกด้านหนึ่ง KTC ก็ต้องพยายามต่อยอดสินเชื่อบัตรเครดิตไปสู่ลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ…

จึงเริ่มเห็นกลยุทธ์การโฟกัสสินเชื่อเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

เริ่มจากบุกสินเชื่อเพื่อการศึกษา เน้นจับกลุ่มบุคคลเพื่อการศึกษาที่เรียนภาษาอังกฤษ

ล่าสุดสร้างฐานลูกค้าใหม่ ด้วยการจับมือกับบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG) ในเครือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เพื่อจับกลุ่มช่างและผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งเป็นลูกค้าในเครือ SCC มีทั้งสยามโกลบอลเฮ้าส์ และซิเมนต์ไทยโฮมมาร์ท

วิธีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่เคยทำมาก่อน เช่นกรณีธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จับมือกับโฮมโปร เป็นต้น

แต่ก็เป็นอีกช่องทางในการเพิ่มรายได้ที่น่าสนใจ…

ลูกค้ากลุ่มนี้อาจมีจำนวนไม่มาก…แต่มูลค่าการซื้อต่อครั้งค่อนข้างสูง โดย KTC จะให้วงเงินสูงสุดถึง 1 ล้านบาท

จึงอาจมีแฝงบริการเรื่องการผ่อนจ่ายเป็นงวด ให้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ

ทำให้ลูกค้าไม่ต้องรับภาระค่างวดที่สูงเกินไป ขณะที่ทางร้านค้าก็จะได้ยอดขาย

ส่วน KTC ได้ฐานลูกค้าใหม่ และวงเงินในการปล่อยสินเชื่อ

เรียกว่า วิน-วินกันทุกฝ่าย..!

เบื้องต้นมีช่างและผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยสมัครใช้บัตร KTC ไปแล้วกว่า 1,000 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อประมาณ 150 ล้านบาท

คาดว่าสิ้นปีนี้ยอดผู้ถือบัตรจะเพิ่มเป็น 1,500 ราย คิดเป็นเงิน 200 ล้านบาท

จึงถือเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเติบโต…

แต่…กลยุทธ์แตก (ไลน์) เพื่อโตของ KTC จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ??

สามารถทำให้ KTC กลับมาโตแบบก้าวกระโดดอย่างที่นักลงทุนคาดหวังได้หรือไม่ ??

คงต้องจับตากันต่อไป…

แต่ขึ้นชื่อว่า เฮียระเฑียรคงไม่ทำให้ผิดหวังใช่มั้ยคะ…เฮียขาาาา…

…อิ อิ อิ…

Back to top button