พาราสาวะถี

ยืนยันจาก สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือแจ้งเรื่องญัตติขอเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ปม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 พ่วงการแถลงนโยบายโดยไม่มีการชี้แจงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ หลังจากนี้รอว่าฝ่ายรัฐบาลจะเคาะคำตอบ พร้อมมาชี้แจงต่อสภาฯ วันใด


อรชุน

ยืนยันจาก สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือแจ้งเรื่องญัตติขอเปิดอภิปรายโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ปม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 พ่วงการแถลงนโยบายโดยไม่มีการชี้แจงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ หลังจากนี้รอว่าฝ่ายรัฐบาลจะเคาะคำตอบ พร้อมมาชี้แจงต่อสภาฯ วันใด

ฟังจากเลขาฯสภาผู้แทนราษฎร เรื่องวันต้องขึ้นกับฝ่ายรัฐบาลว่าจะสะดวกวันใด หากไม่ทันก่อนวันที่ 18 กันยายนนี้ จำเป็นจะต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้เป็นพิเศษ แต่ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรอยากให้จบเรื่องในสมัยประชุมนี้ คงอยู่ที่ว่าท่านผู้นำต้องการที่จะยื้อหรือจบเรื่องนี้โดยเร็ว ซึ่ง วิษณุ เครืองาม ก็ยืนยันแล้วว่า รัฐบาลต้องไปตอบญัตติของฝ่ายค้าน มิเช่นนั้น จะมีความผิด อยู่เพียงแค่ว่าบิ๊กตู่จะไปเองหรือมอบหมายใครไปแทน

แต่เท่าที่จับน้ำเสียงดูแล้วมีแนวโน้มว่าท่านผู้นำจะไปตอบข้อสงสัยของฝ่ายค้านด้วยตนเอง ความจริงเรื่องนี้น่าจะต้องจบไปตั้งนานแล้ว หากยอมรับว่าผิดพลาดแล้วหาช่องทางในการที่จะแก้ไข อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องทางที่รัฐบาลจะลากยาวเรื่องนี้ออกไป โดยอ้างเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ด้วยเหตุผลว่าถ้ามีคำชี้ขาดขององค์กรที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง น่าจะทำให้เห็นทางออกของปัญหาได้ และคงจะเป็นตัวช่วยชั้นดีสำหรับคนที่ทำพลาด

กระนั้นก็ตาม การยืดเยื้อออกไปไม่ได้เป็นผลดีต่อรัฐบาล จะอ้างว่าถูกฝ่ายค้านเล่นเกมทำให้เดินงานไม่ได้เต็มที่ก็ใช่เรื่อง เพราะกระบวนการตรวจสอบนั้นทำโดยสภาฯ และไม่ไปข้องแวะกับงานของฝ่ายบริหาร ขณะเดียวกันภายนอกทั้งองค์กรและบุคคลก็ได้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อันจะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้ตรวจการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เป็นเรื่องที่ร้องโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถือว่ามาเป็นตัวช่วยให้ผู้ตรวจได้ทันเวลาพอดิบพอดี

ในประเด็นนี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทยก็บอกว่า มติของศาลรัฐธรรมนูญนั้นสอดคล้องกับความเห็นของฝ่ายค้านที่ได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติไป การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น จะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายเพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นประการใดก็จะถือเป็นข้อยุติ ถือเป็นบรรทัดฐานต่อไป ตรงนี้แหละที่เป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด

อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมที่ชูศักดิ์อดเป็นห่วงไม่ได้นั่นก็คือ การที่ผู้ตรวจการยื่นร้องไปว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียน ตามมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญนั้น ที่ผ่านมาเคยมีผู้ยื่นคำร้องไปเป็นจำนวนมาก โดยยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา คงต้องลุ้นกันว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอดีตหรือไม่ เวลานี้ใครก็คงจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ไปได้มากกว่านี้ ประเดี๋ยวจะเข้าข่ายก้าวล่วงอำนาจศาลไปอีก ต้องอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญยุคใหม่วิจารณ์ไม่ได้เช่นในอดีต

ขณะที่ประเด็นเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ที่ตีคู่ขนานมากับปมถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนของท่านผู้นำนั้น เรื่องที่ทำให้เกิดการไม่พอใจกันระหว่างพรรคที่ตกเป็นกระแสกับพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างเพื่อไทย คงไม่ใช่เพราะคาดกันว่า เพราะพรรคนายใหญ่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนด้วยการถูกยุบพรรคถึงสองครั้งสองครา แต่น่าจะมีข้อมูลทางลับที่ถูกส่งสัญญาณมาว่า ยังไงก็ไม่รอดแน่สำหรับพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ฟังความเห็นในทางกฎหมายของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ก็น่าเชื่อได้ว่าโอกาสที่จะถูกยุบนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น คดีหุ้นวี-ลัค มีเดียของธนาธรที่อดีตอาจารย์กฎหมายจากรั้วธรรมศาสตร์มองว่าไปได้ไกลแค่ การหลุดจากการเป็นส.ส. คดีอิลูมินาติหรือคดีที่มีคนไปร้องว่าธนาธรและ พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ใช้เสรีภาพในการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ก็ไปได้ไกลแค่ศาลสั่งให้งดใช้เสรีภาพที่เป็นการกระทำในการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่คดีธนาธรให้พรรคกู้เงินมุมของปิยบุตรก็มองว่าไปได้ไกลแค่ต้องนำเงินไปคืน สรุปคือ ทั้งสามคดีไม่เกี่ยวกับการยุบพรรคและพรรคจะสู้คดีอย่างถึงที่สุด นั่นถือเป็นมองจากมุมของกฎหมายที่ควรจะเป็น แต่อย่าลืมว่าสิ่งที่คนของพรรคเพื่อนบ้านสะกิดนั้น ต่างล้วนเป็นห่วงเรื่องอภินิหารกฎหมาย ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าพรรคไทยรักไทยหรือแม้กระทั่งพลังประชาชน รวมไปถึงกรณีของอดีตนายกฯ ผู้ล่วงลับ สมัคร สุนทรเวช ต่างเคยถูกเล่นงานด้วยเหตุผลทางกฎหมายอันพิสดารมาแล้ว

แน่นอนว่า ในส่วนของพรรคอนาคตใหม่นั้น แนวโน้มที่จะถูกยุบเนื่องจากมาแรงและเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับพรรคสืบทอดอำนาจ ดังนั้น การถูกกำจัดพ้นเส้นทางจึงน่าจะเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับบางพรรค บางพวก โดยปมที่ถูกมองว่าจะทำให้เกิดการยุบพรรคและส.ส.ของพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ไปด้วยโดยไม่ได้ถูกเล่นงานเฉพาะกรรมการบริหารพรรคคือกรณีพรรคไปยืมเงินของธนาธรมาดำเนินการ ส่วนความเชื่อมโยงเพื่อที่จะเอาผิดนั้นคงไม่ต้องอธิบายว่าจะเป็นไปอย่างไร

กรณีนี้คงวิพากษ์วิจารณ์หรือมองกันได้ แต่ในมุมของผู้วินิจฉัยอย่างศาลรัฐธรรมนูญคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้มีคำตอบต่อสังคมโดยไร้ข้อกังขา ต้องอย่าลืมว่าจะมาตัดสินตามกระแสหรือเปิดพจนานุกรมเหมือนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดก่อน ๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะการตัดสินยุบพรรคการเมืองหนึ่งการเมืองใดในบริบทที่ฝ่ายยึดอำนาจอ้างเรื่องการปฏิรูปการเมืองนั้น ไม่น่าจะเป็นผลดี และการที่ให้ฝ่ายตรงข้ามต่อสู้กันในสภานั้น น่าจะดีกว่าผลักดันให้ไปชักธงรบกันกลางถนน ซึ่งยากแก่การควบคุม

ความจริงอาการไม่พอใจของอนาคตใหม่ที่มีต่อเพื่อไทย พอเข้าใจได้หากจะมองถึงเรื่องมารยาททางการเมือง แต่ในมิติแรงกระเพื่อมก็เชื่อแน่ว่าธนาธรและคณะผู้บริหารคงประเมินจากกระแส รวมทั้งข่าวที่น่าจะเล็ดลอดเข้าหูกันอยู่บ้างว่า แนวโน้มของสถานการณ์แรงบีบเพื่อกำจัดพรรคน้องใหม่ไฟแรงให้หมดอนาคตทางการเมืองก่อนเวลาอันควรนั้นเข้มข้น รุนแรงขนาดไหน ของพรรค์นี้มันปิดกันไม่มิดอยู่แล้ว

Back to top button