DSR กับดักการโตของสินเชื่อ

จากเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ (Loan-to-Value) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) ที่เข้มงวดขึ้น สำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 หรือบ้านที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.62 และมีการผ่อนคลายเกณฑ์บางประการช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

จากเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ (Loan-to-Value) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) ที่เข้มงวดขึ้น สำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 2 และ 3 หรือบ้านที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย.62 และมีการผ่อนคลายเกณฑ์บางประการช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา

แต่ย้อนหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธปท.มีการออกมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อสถาบันการเงินมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ทั้งออกเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล (Ploan) เช่นการคุมดอกเบี้ยบัตรเครดิตไว้ 18% กำหนดให้ประชาชนขอสินเชื่อ Ploan ได้ไม่เกิน 3 สถาบันการเงิน

ต่อมาออกเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย เช่น กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้สินเชื่อที่เกี่ยวกับบ้านวงเงินไม่เกิน 100% มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงออกเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อรถยนต์ (ลีสซิ่ง) และสินเชื่อรถแลกเงิน

เอาเป็นว่า ธปท.เร่งออกเกณฑ์ใหม่เพื่อควบคุมสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท จากก่อนหน้านี้ออกเกณฑ์สินเชื่อบางตัว เช่น เดิมออกเกณฑ์ควบคุมสินเชื่อบัตรเครดิต ลูกค้าจะหนีไปใช้ Ploan มากขึ้น ดังนั้นแม้ว่าหนี้เสียจะลดส่วนหนึ่งก็ไปเพิ่มขึ้นส่วนอื่นแทน

นั่นทำให้ ธปท.ต้องหาทางควบคุมสินเชื่อทั้งระบบ ล่าสุดอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่อง DSR (Debt Service Ratio) หรือสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ เข้าเป็นข้อกำหนดเดียวกันในการปล่อยสินเชื่อด้วย..!!

ปัจจุบันสถาบันการเงินมี DSR อยู่แล้วแต่มาตรฐานแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ธปท.จึงสร้างทีมงานเพื่อศึกษาว่าควรออกนโยบายแบบใด..!!

ว่ากันตามทฤษฎีเบื้องต้นมี 3 แบบ นั่นคือ 1)ธนาคารกลางกำหนด DSR ว่าคนมีภาระหนี้ไม่เกินเท่าไร 2)กำหนดมาตรฐาน DSR ของสถาบันการเงินไม่ต้องดู DSR รายคน แต่ให้ธนาคารพิจารณาความเสี่ยงเอง 3)จัดทำเป็นคู่มือข้อแนะ (Guideline) กระตุ้นให้ธนาคารแข่งขันกันให้สินเชื่อแบบมีความรับผิดชอบ

นี่เป็นเพียงทฤษฎี..แต่แนวทางปฏิบัติจริงจะเป็นเช่นไรเดี๋ยวค่อยมาว่ากันอีกที..!!

แต่ด้วยเงื่อนไขการปล่อยกู้ที่เข้มงวดช่วงที่ผ่านมา มีการประเมินกันว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ จะอยู่ที่ระดับประมาณ 1-20% ของยอดสินเชื่อรายย่อยปล่อยใหม่รวมของธนาคารพาณิชย์และบริษัทลูกแต่ละแห่ง แต่ระดับผลกระทบจะมีความแตกต่างกันตามโครงสร้างของฐานลูกค้า และพอร์ตสินเชื่อรายย่อยต่าง ๆ

จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่ามาตรฐานการปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่ ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมกำหนดนิยามหรือประเภทของรายได้ เพราะหากว่ามาตรฐานกลางสำหรับการคำนวณสัดส่วน DSR มีความเข้มงวดมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาสินเชื่อก้อนใหม่ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้กู้รายย่อยที่มีภาระหนี้บางส่วนอยู่ก่อนแล้วได้ในอนาคต..อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียว

Back to top button