พาราสาวะถี
มีเสียงชื่นชม ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นแม่นในหลักการ ยืนยันความถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย กับท่าทีล่าสุด ย้ำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาตอบญัตติอภิปรายโดยไม่ลงมติของพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดว่าจะอภิปรายกันวันไหน โดยจอมหลักการย้ำหนักแน่น “ผมเชื่อว่านายกฯ จะต้องมาเพราะนี่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตัวเอง” แน่นอนว่า คนที่ยืนยันหลักการปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัดอย่างท่านผู้นำควรต้องฟังและทำตาม
อรชุน
มีเสียงชื่นชม ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประเด็นแม่นในหลักการ ยืนยันความถูกต้องตามกระบวนการของกฎหมาย กับท่าทีล่าสุด ย้ำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาตอบญัตติอภิปรายโดยไม่ลงมติของพรรคฝ่ายค้าน แม้ว่าจะยังไม่ได้กำหนดว่าจะอภิปรายกันวันไหน โดยจอมหลักการย้ำหนักแน่น “ผมเชื่อว่านายกฯ จะต้องมาเพราะนี่เป็นวิถีทางประชาธิปไตย ทุกคนต้องมาทำหน้าที่ของตัวเอง” แน่นอนว่า คนที่ยืนยันหลักการปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัดอย่างท่านผู้นำควรต้องฟังและทำตาม
เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นคนที่ไม่ชอบให้ใครมาสั่งนั่นก็อีกเรื่อง แต่เมื่อประกาศกร้าวไม่กลัวสภา ก็ไม่ควรจะหลบหน้า เสียดายว่ากรณีนี้มันไม่ใช่การประชุมร่วมกันของรัฐสภา มิเช่นนั้น ท่านผู้นำคงรีบบอกแล้วว่าจะมาตอบตั้งแต่ฝ่ายค้านยังไม่ยื่นญัตติ เพราะรู้ดีว่ามีส.ว.ลากตั้งคอยเป็นหลังพิงอันเหนียวแน่น เห็นได้ล่าสุดกับอดีตคนสื่อที่ได้ดิบได้ดีจากการยึดอำนาจมาในช่วง 10 ปีที่ชื่อ สมชาย แสวงการ กับการออกมากล่าวโจมตีฝ่ายที่ยังคงตีประเด็นถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน
ด้วยการกล่าวหาว่าอีกฝ่ายตีมึนหรือแกล้งไม่รู้ข้อกฎหมาย พร้อมยกเอาเรื่องของสถาบันมาขู่ว่า โปรดระมัดระวังอย่างยิ่งในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ทำอย่างไรที่จะไม่พาดพิงและกระทบกระเทือนจิตใจคนไทยรักชาติและสถาบันฯ นี่ไงที่หลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้า ประเด็นเรื่องสถาบันอันเป็นที่เคารพเทิดทูนของคนไทยทั้งชาตินั้น อย่าได้นำมากล่าวหากัน และอย่าแบ่งแยกว่าใครเป็นพวกรักชาติรักสถาบัน เพราะเชื่อว่าคนไทยทุกคนล้วนแต่รักและเทิดทูนเหมือนกัน
เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีหัวโขนและไม่จำเป็นต้องไปเที่ยวโพนทะนาหรือบอกใครว่าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะคนไทยทุกคนนั้นถูกสั่งสอนมาตั้งแต่จำความกันได้แล้วว่า สถาบันสูงสุดของประเทศนั้นทุกคนต้องรัก หวงแหนและช่วยกันปกป้อง ดังนั้น อย่าไปเที่ยวแบ่งแยกและประกาศว่า ใครรักหรือไม่รักชาติ รักสถาบัน หากใครมีพฤติกรรมที่ไปลบหลู่ดูหมิ่น ก็ปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องตัดสิน ให้ผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเป็นคนชี้ขาด ไม่ใช่ใช้หัวโขนที่ตัวเองมีเที่ยวกล่าวหาใครต่อใคร
ไม่เพียงเท่านั้น สมชายยังอ้างอีกว่าแม้มีพิธีรับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์เมื่อเช้าวัน 27 สิงหาคม ตามที่คนไทยทั้งชาติรับทราบและเข้าใจเรื่องดี พวกเขาก็จะไม่ยอมหยุดการเคลื่อนไหวที่วางแผนไว้แล้วจะลากดึงเรื่องนี้ต่ออย่างมีเจตนา ยิ่งเป็นการกล่าวหาให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างน่าเกลียดเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากส.ว.ลากตั้งรายนี้ได้ฟัง ศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ให้ความเห็นต่อประเด็นที่เกิดขึ้น คงจะมีสติและไม่กางปีกปกป้องอำนาจที่เกื้อหนุนตัวเองมาตลอดเวลาความขัดแย้งอย่างไม่ลืมหูลืมตา
ท่านผู้พิพากษาศรีอัมพรให้ความเห็นว่า สำหรับเรื่องการที่คณะรัฐมนตรีทำพิธีรับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์วันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการให้คำแนะนำฝ่ายบริหารให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างไรที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ในฐานะองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์มิได้อยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ และทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นการไม่บังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยต่อไป เพราะถือเป็นคนละเรื่องกัน
จึงไม่ควรที่จะเสนอข่าวในลักษณะคาดเดาหรือคิดเอาเองว่าเรื่องจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่เป็นการบังควรที่จะนำเรื่องการที่พระมหากษัตริย์พระราชทานคำแนะนำแก่ฝ่ายบริหารมาปะปนกับเรื่องคดีเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญในเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะประเทศประชาธิปไตยทั่วไปก็มีแนวทางและกระบวนการดำเนินไป ตามการเมืองการปกครองประชาธิปไตยที่กระทำกันอยู่ทั่วโลก
ฝ่ายการเมืองและประชาชน จึงไม่บังควรที่จะนำเรื่องนี้ไปยุ่งเกี่ยวหรือปะปนกับกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ควรจะนำไปตีความว่าพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องวิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณ เพราะพระองค์จะไม่ทรงเข้ายุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้ ฝ่ายการเมืองก็ดีหรือประชาชนไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์และนำเรื่องดังกล่าวไปคาดการณ์คาดคะเนหรือพูดคุยเป็นข่าวลือในทางที่ไม่ดีหรือเสียหาย
โดยผู้พิพากษาศรีอัมพรย้ำว่า “เพราะสิ่งนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีรัฐธรรมนูญและกฎกติกาในลักษณะของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับเรื่องความถูกผิดของกระบวนการถวายสัตย์ปฏิญาณของครม.ชุดนี้ และไม่ควรบังอาจไปถือเอาว่าพระมหากษัตริย์ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกผิดของการถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนี้ด้วย”
ขณะเดียวกันกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะต้องไปดำเนินการผ่านศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีองค์กรอิสระหรือสภานิติบัญญัติเป็นผู้ส่งเรื่องไปนั้น ก็เป็นกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีกฎกติกากำหนดไว้โดยชัดเจนและเรียบร้อย เป็นไปตามระบอบการเมืองการปกครองประชาธิปไตยสากลที่ปฏิบัติกันอยู่ในประเทศทั่วโลกกระบวนการนี้เรียกว่าดูโปรเซสหรือการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม
ในประเทศที่ใช้กฎหมายปกครองหรือที่เรียกว่านิติรัฐ คือประเทศที่ใช้กระบวนการยุติธรรม มีกฎหมายเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองที่ชัดเจน และเป็นบรรทัดฐาน พอจะเข้าใจได้ว่าพวกที่มาจากกระบวนการลากตั้งทั้งหลายที่แสดงความไม่พอใจต่อกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น คงคุ้นชินหรือเคยตัวกับการรับบัญชาจากอำนาจเผด็จการ เป็นสภาตรายางที่ไร้การตรวจสอบใดๆ จึงเป็นเดือดเป็นร้อนแทนผู้มีพระคุณที่กำลังถูกตรวจสอบ ต้องลืมความสามานย์ที่เคยใช้อภินิหารทางกฎหมายไปเสียแล้วพึงสำเหนียกถึงมารยาทและวิถีของสภาปกติที่มาจากเสียงของประชาชนพึงกระทำ