พาราสาวะถี
ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายค้านอยู่ระหว่างรอคำตอบเรื่องวันเวลาจากรัฐบาล ต่อการจะเข้าชี้แจงญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ปมการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 พ่วงด้วยการที่รัฐบาลไม่ชี้แจงที่มางบประมาณของการดำเนินโครงการในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาส่อขัดรัฐธรรมนูญนั้น ก็ปรากฏข้อเสนอ “ประชุมลับ” ทะลุกลางปล้องขึ้นมา
อรชุน
ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายค้านอยู่ระหว่างรอคำตอบเรื่องวันเวลาจากรัฐบาล ต่อการจะเข้าชี้แจงญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ปมการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 พ่วงด้วยการที่รัฐบาลไม่ชี้แจงที่มางบประมาณของการดำเนินโครงการในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาส่อขัดรัฐธรรมนูญนั้น ก็ปรากฏข้อเสนอ “ประชุมลับ” ทะลุกลางปล้องขึ้นมา
แน่นอนว่า ข้อเสนอนี้ย่อมมาจากฝ่ายรัฐบาลเป็นการโยนหินถามทาง โดยอ้างเหตุผลเรื่องความละเอียดอ่อน เพราะเกรงว่าจะมีการพูดพาดพิงในสิ่งมิบังควร อันเป็นการสอดรับกับความเห็นของกองเชียร์อำนาจเผด็จการสืบทอด ที่อ้างว่าฝ่ายค้านระวังจะอภิปรายไปพาดพิงสิ่งที่จะกระทบความรู้สึกของคนไทยรักชาติรักสถาบัน ทั้ง ๆ ที่ความจริง การอภิปรายยังไม่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงคนที่ได้ชื่อว่าส.ส.ตัวแทนของคนไทยที่เลือกเข้าไปในสภาหินอ่อน ย่อมรู้ผิดชอบชั่วดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจของคนไทยทั้งชาติ ดังนั้น ข้อเสนอว่าด้วยการประชุมลับ รวมทั้งความเห็นในลักษณะดักคอฝ่ายค้านและพยายามสร้างกระแสเบี่ยงประเด็น บทสัมภาษณ์ล่าสุดของ วิษณุ เครืองาม น่าจะเป็นการกระตุกเตือนพวกที่พยายามเสี้ยมและชี้นิ้วให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นพวกไม่จงรักภักดี ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงได้พึงสำเหนียกว่า อย่าได้ยัดเยียดคนไทยด้วยกันที่เป็นคนละฝั่งด้วยข้อกล่าวหาแบบเพื่อทำลายทำร้ายแบบในอดีตอีก
สิ่งที่รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายย้ำถือเป็นหลักการที่เป็นกลางซึ่งทุกฝ่ายโดยเฉพาะพวกถือหางเผด็จการสืบทอดอำนาจควรตระหนัก การเปิดอภิปรายตามมาตรา 152 อยู่ๆ จะให้เป็นประชุมลับก็คงเร็วเกินไป เหมือนตีตนไปก่อนไข้ เพราะเรายังไม่รู้ว่าเขาจะถามอะไรแล้วเราจะตอบอะไร แล้วจะไปคิดก่อนได้อย่างไรว่าจะมีความไม่เหมาะสมเกิดขึ้น เหมือนจะเข้าใจดีกว่าบรรยากาศของความขัดแย้งที่ยาวนานมากว่า 10 ปีนั้น ก็เกิดจากพวกที่มีอคติแล้วใช้ความเป็นคนดีโจมตี กล่าวหาฝั่งตรงข้ามอย่างขาดความรับผิดชอบนั่นเอง
ถูกต้องแล้วในเชิงหลักการ การประชุมลับจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทุกคนได้เห็นหน้างาน หากเห็นว่าฝ่ายที่อภิปรายมีการพูดพาดพิงในสิ่งที่ละเอียดอ่อน มิบังควร ย่อมเป็นความชอบธรรมของคนที่มองเห็นจะเสนอให้ประธานในที่ประชุมพิจารณาให้มีการประชุมลับ โดยใช้มติของที่ประชุมเป็นตัวตัดสิน ทุกอย่างมีกระบวนการและขั้นตอนไว้รองรับอยู่แล้ว ไม่ใช่คิดเองเออเอง สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นข้อครหา ทำทุกทางเพื่อดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม
วันนี้ ควรจะมีคำตอบให้คนส่วนใหญ่ที่เฝ้าจับตามองเรื่องนี้ได้แล้วว่า รัฐบาลพร้อมที่จะไปตอบคำถามนี้หรือไม่ หรือจะลากยาวให้ยืดเยื้อเพื่อรอสัญญาณจากศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณาเรื่องเมื่อใด จะได้ไม่ต้องไปตอบคำถามโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไงเหมือนกัน เอาให้ชัดว่าจะเดินกันแบบไหน ที่อึดอัดคงไม่ใช่ฝ่ายค้าน เพราะยิ่งเนิ่นนานยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำและความน่าเชื่อถือหดหายไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย ที่เป็นพวกเดียวกันจะเดือดร้อน
ต้องไม่ลืมว่าจอมหลักการยึดมั่นในกฎ กติกาอย่างเคร่งครัด ยิ่งเป็นกลไกที่ฝ่ายค้านได้เดินตามครรลองของวิถีประชาธิปไตย การล่าช้าออกไปยิ่งทำให้เห็นว่าใคร พวกไหนที่ไม่เคารพกติกาทั้งที่ตัวเองเป็นผู้ร่างขึ้นมาเอง หากเป็นคนที่เข้าใจในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างถ่องแท้ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ย่อมเข้าใจความรู้สึกของผู้คนโดยทั่วไปเป็นอย่างดีว่าต้องการให้จบแบบไหน การส่งกระบอกเสียงทั้งของพรรคสืบทอดอำนาจและโฆษกรัฐบาลมาโยนหินถามทางนั้น ชัดเจนว่าเสียงสนับสนุนเบาบางเหลือเกิน
โชว์บทบาทผู้นำฝ่ายค้าน ยืนยันในหลักการเป็นการเบื้องต้นไว้ก่อนสำหรับ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ย้ำถึงการอภิปรายตามญัตติดังกล่าว โดยแสดงความประสงค์ว่าควรต้องประชุมกันอย่างเปิดเผย เหตุผลสำคัญเพราะเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากรู้ หากมีการประชุมลับแล้ว ประชาชนจะรับรู้ข้อเท็จจริงได้อย่างไร เรื่องสำนึกของผู้อภิปรายนั้น ย่อมมีความระมัดระวังอย่างสูงอยู่แล้ว ที่จะไม่ให้มีการพาดพิงสถาบัน
ความเห็นที่น่าสนใจและน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการอภิปรายคือคำถามที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ผู้ซึ่งใกล้ชิดกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นผู้ร่างมาเองกับมือ ทุกถ้อยคำทุกตัวอักษรย่อมชัดเจน แล้วทำไมการถวายสัตย์ฯ จึงไม่ครบถ้วน แม้แต่วิษณุก็เคยเขียนหนังสือย้ำว่า การถวายสัตย์ฯ จะผิดไม่ได้คำว่า และหรือจะสลับไม่ได้ แน่นอนว่า ฝ่ายที่หนุนฝ่ายค้านคงเชื่อตามที่สมพงษ์ยืนยันว่า การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นไปด้วยความปรารถนาดี ไม่ได้มาแก่งแย่งเพื่อล้มรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ในรายของเนติบริกรชั้นครูนั้น ยังคงได้รับความไว้วางใจจากท่านผู้นำต่อเนื่อง เพราะเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมามีการลงนามแต่งตั้งให้นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….. และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา พ.ศ….. ร่วมกับคณะกรรมการจำนวน 13 คน หนึ่งในนั้นมี บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมอยู่ด้วย เป้าหมายคือเร่งสร้างกฎหมายปฏิรูปทั้งสองฉบับนี้ให้แล้วเสร็จ
เป็นภาคต่อมาจากสิ่งที่คณะกรรมการซึ่งคณะเผด็จการคสช.แต่งตั้งขึ้นมาดำเนินการเพื่อปฏิรูปวงการสีกากี แต่ยังค้างเติ่งมาจนถึงทุกวันนี้ ดูรายชื่อของคณะกรรมการแล้วก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนหน้าเดิมที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้นำเผด็จการมาตั้งแต่ยึดอำนาจ ต้องตามดูกันต่อว่ามาภาคใหม่จะผลักดันทำให้กฎหมายเปลี่ยนแปลงตำรวจเดินทางไปถึงเป้าหมายที่คุยโวกันไว้หรือไม่ การที่ท่านผู้นำมากุมบังเหียนเหล่าสีกากีด้วยตัวเองน่าจะเป็นสัญญาณบางอย่างได้เหมือนกัน
จัดประชุมกันไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับพรรคเศรษฐกิจใหม่โดยได้ มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ยังยืนยันหนักแน่นเป็นพรรคฝ่ายค้านเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปคือจะไม่ค้านในทุกเรื่องสิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมยกมือหนุนรัฐบาล ได้ฟังเช่นนี้ที่ห่วงกันว่ารัฐบาลเรือเหล็กมีปัญหาเสียงปริ่มน้ำคงไม่ต้องกังวลกระมัง เพราะมีกลุ่มที่เปิดเผยตัวตนและยังมี “งูเห่าชั่วคราว” คอยเป็นกำลังเสริม 4 ปีที่บางคนประกาศว่าต้องไปให้ถึงไม่น่าจะยากเย็นเกินไป