TSR ตราสารทุนเผื่อเลือก!
หนึ่งตราสารทุนที่นักลงทุนทั่วไป อาจไม่รู้จักหรือไม่คุ้นกันเป็นการแพร่หลาย นั่นคือ “ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้” (Transferable Subscription Rights) หรือ TSR แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทที่ต้องการ การระดมทุนและผู้ถือหุ้นที่ไม่ต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนสามารถขายหรือโอนสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
หนึ่งตราสารทุนที่นักลงทุนทั่วไป อาจไม่รู้จักหรือไม่คุ้นกันเป็นการแพร่หลาย นั่นคือ “ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้” (Transferable Subscription Rights) หรือ TSR แต่เป็นหนึ่งในเครื่องมือ ช่วยลดความเสี่ยงของบริษัทที่ต้องการ การระดมทุนและผู้ถือหุ้นที่ไม่ต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุนสามารถขายหรือโอนสิทธิ์การซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้
โดย TSR เป็นตราสารที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เมื่อบริษัทเพิ่มทุนและได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) บริษัทจะออก TSR ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกคนตามสัดส่วนสิทธิที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายได้รับจากการเพิ่มทุน
ถือเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิ ที่มีลักษณะคล้ายกับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (Warrant) สามารถซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยผู้ถือ TSR สามารถใช้สิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุน เพียงแต่ TSR จะมีอายุสั้นกว่า Warrant คือ TSR มีอายุไม่เกิน 2 เดือน ขณะที่ Warrant ส่วนใหญ่เฉลี่ยมีอายุ 3-5 ปี
การออก TSR มีลักษณะคล้าย Right offering (RO) กล่าวคือบริษัทต้องออกและเสนอขาย TSR ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายเท่านั้น แต่ TSR แตกต่างจาก RO กรณีผู้ถือหุ้นเดิมไม่ประสงค์ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นเดิมสามารถโอนสิทธิให้ผู้อื่นหรือขาย TSR ในตลาดหลักทรัพย์ได้ ขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ได้รับสิทธิเพิ่มทุนตาม RO จะไม่สามารถนำสิทธิ์ดังกล่าวไปโอนหรือขายให้แก่นักลงทุนรายอื่นได้
สำหรับประโยชน์ของ TSR ในแง่บริษัทที่ออกนั้น สามารถระดมทุนได้ครบถ้วนตามเป้าหมายที่ต้องการ ด้วยการกำหนดราคาแปลงสิทธิ TSR เพื่อซื้อหุ้นสามัญได้สูงกว่าราคาเพิ่มทุน RO โดยทั่วไป ที่สำคัญสามารถขยายฐานผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในแง่ผู้ถือหุ้น ถือว่ามีทางเลือกเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิจองซื้อหุ้นหรือขายสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ กรณีมีข้อติดขัดไม่สามารถจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่วนกรณีผู้ถือหุ้นไม่ประสงค์จะขาย TSR ยังคงสามารถใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนได้ตามปกติเหมือน RO โดยไม่มีการเสียสิทธิแต่อย่างใด
สำหรับการซื้อขาย TSR ในตลาดหลักทรัพย์จะใช้ชื่อย่อของหลักทรัพย์ที่ออก TSR ตามด้วย “-T” (TSR) อย่างกรณี TSR ของธนาคารทหารไทย (TMB) จะใช้ชื่อว่า TMB-T นั่นเอง โดยสามารถซื้อขายได้ทั้งบนกระดานหลัก กระดานหน่วยย่อยและกระดานใหญ่ ส่วนเกณฑ์ราคา Ceiling-Floor เป็นไปตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด
โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการขึ้นเครื่องหมาย SP กับ TSR 3 วันทำการ ก่อนวันเริ่มจองซื้อและชำระเงินค่าหุ้นสามัญ เพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือ TSR ที่ต้องการใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ และด้วยความที่ TSR มีอายุสั้นเพียง 2 เดือน จึงต้องทำ TSR เข้าระบบไร้ใบหุ้น (Scripless System) ทั้งหมด
ตัวอย่างบริษัทจดทะเบียนที่ออก TSR ให้เห็นมาแล้วคือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE บริษัท สมบูรณ์แอ๊ดวานซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAT และบริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE
ล่าสุดคือธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ที่ออก TSR จำนวน 31,481.48 ล้านหน่วย อัตราส่วน 1.39 หุ้น TMB ได้ TSR 1 หน่วย และการแปลงสิทธิ TSR เป็นหุ้นเพิ่มทุน TMB อัตราส่วน 1 TSR ได้ 1 หุ้นเพิ่มทุน TMB ราคาใช้สิทธิ 1.35-1.60 บาท
จึงต้องจับตาดูว่า “ตราสารทุนเผื่อเลือก” อย่าง TSR นี้ จะประสบผลสำเร็จดั่งคำนิยามหรือไม่..!??