จะช่วยหรือวางเฉย
เลขาฯก.ล.ต. คนปัจจุบันดูไฟแรงมากตามประสาแต่เรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยเอ่ยถึงนั่นคือเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนควรได้รับที่โปร่งใสมากขึ้นไม่ใช่การสื่อสารแบบกำกวมทางเดียวที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแจ้งผ่านสื่อหรือผ่านตลาดฯ
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
เลขาฯก.ล.ต. คนปัจจุบันดูไฟแรงมากตามประสาแต่เรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคยเอ่ยถึงนั่นคือเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่นักลงทุนควรได้รับที่โปร่งใสมากขึ้นไม่ใช่การสื่อสารแบบกำกวมทางเดียวที่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแจ้งผ่านสื่อหรือผ่านตลาดฯ
ปมประเด็นดังกล่าวจะบอกว่าเล็กน้อยก็ได้หรือใหญ่มากก็ได้
– กรณีบริษัทจะออกหลักทรัพย์ใหม่ขาย IPO ที่ตั้ง “ราคาเหมาะสม” โดยไม่มีคำอธิบายชัดเจน
– กรณีแถลงข่าวหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ไม่เคยทำได้แถมออกจะฝันเฟื่องโดยมีนักวิเคราะห์และสื่อ “ขาเชียร์” สอดประสานเป็นปี่เป็นขลุ่ย
-กรณีแจ้งข่าวผลการดำเนินงานหรือกิจกรรมแบบ “พูดความจริงครึ่งเดียว” เพื่อนำทางให้นักลงทุนหลงทาง
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น
ปรากฏการณ์เช่นนี้จะเห็นง่ายและถี่ชุกในยามที่ราคาหุ้นย่ำแย่หรือผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาดผู้บริหารมักจะสั่งการให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือบริษัทประชาสัมพันธ์คัดสรรแต่ด้านบวกมากลบด้านลบ
จะบอกว่าเพื่อรักษาราคาหุ้นก็คงไม่ใช่แต่จะบอกว่าเป็นนิสัยหรือสันดานของผู้บริหารก็เกินไป
ธนาคารบางแห่งที่ยอดรวมกำไรสุทธิรายไตรมาสเทียบกับปีก่อนย่ำแย่มักจะงัดเอาเรื่องการเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมมากลบรายได้จากดอกเบี้ยและพยายามไม่พูดถึงปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อจะบอกเพียงแค่ว่ากำลังจะดีขึ้นในไตรมาสถัดไป
บางบริษัทกำไรลดฮวบเกิน 50% ทั้งกำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นใช้วิธีเลี่ยงพูดถึงอนาคตที่คาดว่าจะดีขึ้นกว่าสองไตรมาสที่ผ่านมาเพราะปัจจัยบวกสารพัดทั้งด้านกติกาทำธุรกิจ หรือราคาขายผลิตภัณฑ์หรือบริการโดยเน้นว่ามาร์จิ้นธุรกิจดีขึ้นจะดันให้ดัน EBITDA เข้าเป้าที่ตั้งเอาไว้
บางบริษัทไตรมาสก่อนบอกว่าเหตุผลที่กำไรลดฮวบเพราะการรับรู้รายได้ที่ต้องบันทึกล่าช้าเพราะลูกค้าบางรายผิดนัดขอเลื่อน แต่มาถึงไตรมาสล่าสุดเกิดขาดทุนเฉยและไม่ยอมพูดถึงรายการที่ลูกค้าเบี้ยวหน้าตาเฉย
บางบริษัทที่รู้กันดีว่าเป็นนักเทกโอเวอร์กิจการมีข่าวต่อเนื่องทั้งเพิ่มทุนเอาไปซื้อกิจการกำไรเปราะบางมากแต่ราคาหุ้นหวือหวา สื่อและนักวิเคราะห์เกรงใจเน้นพูดเรื่องตั้งเป้าเติบโตของรายได้เป็นหลักทิ้งท้ายให้นักลงทุนเข้าใจตีความกันเองว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้กำไรเพิ่มเป็นเงาตามตัวโดยเลี่ยงไม่พูดถึงคุณภาพของกำไร
บางบริษัทที่มาร์จิ้นธุรกิจเบาบางมากเลือกใช้จังหวะเวลาและข่าวลือด้านวิศวกรรมการเงินมาดันราคาหุ้นจนราคาวิ่งเกิน 50% ในเวลาแสนสั้นทั้งที่อัตรากำไรสุทธิยังเปราะบางเหมือนเดิม
บางบริษัทโหนกระแสปัจจัยภายนอกเช่นจะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าเพราะมีโรงงานหลายแห่งในต่างประเทศแต่พอผลประกอบการลดฮวบฮาบก็อ้างหน้าตาเฉยว่ารับผลกระทบเชิงลบสงครามการค้าทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจต่ำกว่าคาด
บางบริษัทเน้นขยันออกข่าวรับงานใหม่ในอนาคตแต่ไม่ยอมบอกว่างานใหม่ที่ได้มานั้นมีความสามารถทำกำไรมากน้อยแค่ไหน
บางบริษัทก่อสร้างรับงานใหญ่ทั้งปีแต่ไม่เคยมีกำไรต่อเนื่องนานหลายปีแถมมีขาดทุนสะสมบานเบอะยังพูดถึงอนาคตสวยหรูได้
ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปนี้อาจจะมองว่านักลงทุนต้องมีความรอบคอบเรียนรู้ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในการลงทุนแต่การปล่อยให้ผู้บริหารบริษัทนำเสนอข้อมูลที่ปรุงแต่งด้วยศิลปะแห่งการบิดเบือนจนเป็นกระบวนการ “อันคุ้นเคย” ย่อมไม่ควรเพิกเฉย
เว้นเสียแต่จะถือว่าค่าโง่นั้นเป็นสัจธรรมในการลงทุนช่วยไม่ได้
ทั้งที่ความจริงแล้วจะช่วยก็ย่อมทำได้ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเท่าใด