CPN v. AOT

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำให้คดีและข้อพิพาททางธุรกิจในครั้งนี้จบลงได้รวดเร็วขึ้น โดยที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นไปกว่านี้...


CAP & CORP FORUM

ข้อพิพาทระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ “CPN” ถือเป็นข่าวสำคัญทางธุรกิจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในเรื่องของการหาผลประโยชน์ในพื้นที่โดยรอบของสนามบินสุวรรณภูมิ และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 CPN จึงได้ยื่นฟ้อง AOT ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้

(1) ให้ AOT ยุติการกระทำละเมิดและการปิดเส้นทางเข้าออกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินการของ CPN

(2) ให้ AOT ชำระค่าเสียหายจำนวน 150,091,879.45 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

และ CPN ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาด้วย โดยขอให้ AOT รื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ ออกไปจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ และยุติการดำเนินการใด ๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินการของหน่วยงานสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ รวมทั้งห้ามมิให้ AOT รบกวนการใช้ประโยชน์ใด ๆ ของ CPN ในบริเวณดังกล่าวด้วย

ศาลปกครองกลางไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันที่ 28 สิงหาคม 2562 และมีคำสั่งในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยให้ AOT รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า-ออก หน้าโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ ตามที่ CPN ร้องขอ ทั้งนี้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ต้องถือว่ายกแรกนี้ CPN ชนะไป แต่ว่าเนื้อหาคดีก็ยังคงต้องว่ากันต่อไปในศาลว่าใครผิด ใครถูกอย่างไร

ว่าด้วยเรื่องของการขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวนั้น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 66  กำหนดว่า ในกรณีที่ศาลปกครองเห็นสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการใด ๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องเป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ไม่ว่าจะมีคำร้องขอจากบุคคลดังกล่าวหรือไม่ ให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวและออกคำสั่งไปยังหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด โดยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐและปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐประกอบด้วย

ประเด็นสำคัญในการพิจารณาคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในคดีนี้นั้น ศาลพิจารณาประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

(1) สถานะความเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่ยังเป็นที่โต้แย้งกันอยู่

(2) การดำเนินการต่าง ๆ ของ CPN ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย

(3) การใช้ประโยชน์ในที่ดินของ  CPN มิได้เป็นการรบกวนการครอบครองหรือใช้สิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด

(4) การที่ AOT ยืนยันว่ามีอำนาจกระทำการขัดขวางการใช้ประโยชน์ในที่ดินของ CPN ย่อมเป็นการแสดงให้เห็นว่า AOT จะกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการปิดเส้นทางเข้า-ออก อันจะมีผลให้ CPN ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ

(5) และประการสำคัญ ข้อกล่าวอ้างที่ว่าการใช้ทางเชื่อมดังกล่าว จะทำให้ส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 มีความเสียหายทั้งด้านการเงินและด้านเศรษฐกิจของประเทศนั้น ศาลพิจารณาเห็นว่าประเด็นนี้เป็นเพียงการ “คาดการณ์” เท่านั้น

เมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเพื่อสนับสนุนในเรื่องของความปลอดภัยของการเดินอากาศยานตามที่มีการกล่าวอ้างในสื่อต่าง ๆ แต่อย่างใด ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากยังไม่ได้รับการยืนยันหรือความเห็นจากหน่วยงานกำกับการบินระหว่างประเทศ ณ วันที่ทำการไต่สวน นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อกล่าวอ้างด้วยว่า AOT เห็นว่าการอนุญาตให้เข้า-ออกบริเวณทางเชื่อมจะทำให้การจราจรติดขัดโดยเฉพาะทางแยกและจุดกลับรถสำหรับรถที่จะเข้าออกโครงการเซ็นทรัล วิลเลจฯ และมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น  เป็นอุปสรรคต่อทั้งผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ ผู้ประกอบการ และลูกเรือ ฯลฯ เป็นต้น

ถ้าดำเนินกระบวนพิจารณาตามปกติ ก็คงต้อรออีกไม่น้อยกว่าหนึ่งปี คดีนี้จึงจะมีคำพิพากษาออกมาได้ แต่อีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าอาจเหมาะสมต่อการระงับข้อพิพาทในทางธุรกิจครั้งนี้ คือการใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ของศาลปกครองตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 ซึ่งการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้การบริหารจัดการคดีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พ.ศ. 2562 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา กำหนดว่าคู่กรณีที่ประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอาจริเริ่มให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยยื่นคำขอต่อศาลนั้นเพื่อให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นับแต่มีการฟ้องคดีต่อศาลจนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง และในกรณีที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จและทำให้ประเด็นแห่งคดีเสร็จสิ้นไปทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ทำบันทึกข้อตกลงหรือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นหนังสือโดยลงลายมือชื่อต่อหน้าผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และหากองค์คณะเห็นว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ทำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือมีคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉลหรือผลการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและเป็นกรณีที่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทสำเร็จและทำให้ประเด็นแห่งคดีเสร็จสิ้นไปทั้งหมด ก็ให้องค์คณะมีคำพิพากษาไปตามนั้นโดยเร็ว

ดังนั้น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจึงอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยทำให้คดีและข้อพิพาททางธุรกิจในครั้งนี้จบลงได้รวดเร็วขึ้น โดยที่บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นไปกว่านี้…

ศุภวัชร์ มาลานนท์

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Fulbright Hubert H. Humphrey Fellowship

American University Washington College of Law

Back to top button