4G กับ แมวอ้วนขี้เกียจพลวัต2015

คงต้องพูดกันต่อไปถึงควันหลงจากการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ เรียกกันย่นย่อว่า บอร์ดเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กับรายการ “หักดิบ” คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 5 MHz คืนจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)


คงต้องพูดกันต่อไปถึงควันหลงจากการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ เรียกกันย่นย่อว่า บอร์ดเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา กับรายการ “หักดิบ” คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 5 MHz คืนจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

การประชุมวันนั้น ที่ประชุมระบุว่า  บริษัท กสท โทรคมนาคม ได้แจ้งคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่อยู่ในครอบครองจำนวน 5 MHz  ให้กับ กสทช. โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้นำไปสมทบรวมกับการเปิดประมูลคลื่น 4G  ตามกำหนดเดือนพฤศจิกายน

คลื่นความถี่ขนาดดังกล่าว เคยเป็นข้อพิพาทกัน เพราะเดิมทีนั้นเคยเป็นสัมปทานโทรศัพท์ในยุค 2G ของจำนวน  50 MHz ซึ่ง บริษัท กสท โทรคมนาคม ครอบครองไว้ และให้สัมปทานแก่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ไปจนถึงปี 2561 แต่ที่ผ่านมา DTAC ใช้ประโยชน์ไม่เต็มพิกัด 25 MHz แรกเสียด้วยซ้ำ จึงขอคืนคลื่นจำนวน  25 MHz ส่วนหลังกลับมาให้ เพื่อจะให้ กสทช.นำกลับมาประมูลในย่านความถี่ 4G  โดย DTAC หวังจะได้ใบอนุญาตส่วนนี้อีกต่อ

เจตนาของ DTAC (ซึ่งไม่มีใครรู้อีกเช่นกันว่ามีลับลมคมในอะไรซ่อนไว้) แทนที่จะทำให้ กสท โทรคมนาคม คืนคลื่นทั้งหมด ให้กับ กสทช.เพื่อนำมาประมูลในทันที  กลับสร้างเงื่อนไขต่อ กสทช. ว่า จะคืนให้กับ  กสทช. เพียง 5 MHz เท่านั้น แต่ที่เหลืออีก 20 MHz  จะเก็บเอาไว้ใช้ประโยชน์กับตนเอง จนกว่าจะถึงปี 2568 หรือ อีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่แค่ปี 2561 หรืออีก 3 ปีตามสัญญาที่มีกับ DTAC แต่ กสทช.ไม่ยอมรับเงื่อนไข

เหตุผลของการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz ของ DTAC และ กสท โทรคมนาคม นั้น ค่อนข้างซับซ้อนสำหรับคนภายนอกวงการพอสมควร จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องย้อนรอยกลับไปที่รากเหง้า

คลื่นความถี่โทรคมนาคมในโลกนั้น มีอยู่หลายย่านความถี่ เช่น 800, 850, 900, 1900, 2100 และ 2600  MHz โดยคลื่นทั้งหมดในโลกนี้ อยู่ภายใต้การการกำกับดูแลและจัดสรรของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU-International Telecommunication Union) ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่ และได้รับการจัดสรรมาให้จำนวนหนึ่ง ผ่านองค์กรโทรคมนาคมเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Telecommunity–APT) โดยที่คนทั่วไปแทบไม่รู้หรอกว่าเท่าใด โดยจัดสรรมาให้นานแล้วสมัยที่ยังมีกรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่ แล้วกรมดังกล่าวก็เอามาแบ่งหรือจัดสรรให้กับ 2 รัฐวิสาหกิจคือ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และ การสื่อสารแห่งประเทศไทย

ผลลัพธ์ที่ต่อเนื่องมายาวนานในอดีตหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน ก็คือ การที่ 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าว ทำการแบ่งกันผูกขาดคลื่นความถี่โทรคมนาคมทั้งหมดของประเทศในกำมือกันอย่างเงียบเชียบ ตามประสาแมวอ้วนสันหลังยาว ท่ามกลางประโยชน์มหาศาลที่คนนอกไม่เคยล่วงรู้

การผูกขาดดังกล่าว เริ่มเป็นที่รู้จักชัดเจนมากขึ้น เมื่อมีธุรกิจโทรศัพท์มือถือเติบใหญ่มากขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ผ่านระบบสัมปทานโดยเอกชนวางเครือข่ายให้กับรัฐวิสาหกิจของรัฐ แล้วเข้าบริหารเครือข่ายเหล่านี้ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยแบ่งเงินส่วนแบ่งรายได้ให้ ซึ่งแรกสุด กลุ่มชินวัตร และ DTAC เข้าไปขอรับสัมปทานต่อจาก 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าวมา แล้วทำให้กลายเป็นธุรกิจหลายแสนล้านบาท จนกระทั่งมีคนอยากร่วมในความมั่งคั่งตรงนี้กันมากขึ้น

การผูกขาดของ 2 รัฐวิสาหกิจ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนฐานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงน่าจะสิ้นสุดลงเมื่อมี กสทช. เกิดขึ้น เพื่อรับกับบรรยากาศใหม่ของยุคสมัย ภายใต้ใบอนุญาตแทนที่สัมปทาน แต่ซากเก่าแก่ของการผูกขาดที่หลงเหลือ ก็ยังคอยถ่วงรั้งพัฒนาการ โดยอ้างถึงกฎหมายคร่ำครึในอดีตมากำบัง

กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็ดูเหมือนจะติดกับดักของระบบการผูกขาดผลประโยชน์ของ 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าว ไม่สามารถสลัดให้หลุดจากอดีตได้ จนต้องพึ่งพาอำนาจของ ผู้นำอำนาจนิยม แบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มากระชากอดีตออกจากอนาคตได้บางส่วน อย่างกรณีการคืนคลื่นของ DTAC และ กสท โทรคมนาคมนี้

ประเด็นที่เป็นโจทย์ ก็คือ เหตุใดบอร์ดเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ จึง “หักดิบ” ย่านความถี่ 1800 MHz ของ กสท โทรคมนาคม เพียงแค่ 5 MHz เท่านั้น ทำไมจึงไม่ยึดเอามาทั้งหมด 25 MHz หรือมากกว่านั้น เสียเลยล่ะ  

พลเอกประยุทธ์ และ บอร์ดเตรียมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯควรรู้และต้องรู้ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีคลื่นว่างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทุกชนิดอยู่ถึง 45 MHz การปล่อยให้คลื่นเหล่านี้กลายเป็นคลื่นที่ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นความสูญเปล่าของทรัพยากรที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้เพราะอำนาจผูกขาดของ 2 รัฐวิสาหกิจดังกล่าว

ไหนๆ พลเอกประยุทธ์ก็เป็นเผด็จการและใช้อำนาจเผด็จการไปเต็มตัวแล้ว (ในกรณีนี้ ถือว่ามีประโยชน์มาก แต่ยังไม่เพียงพอ)  หากจะใช้อำนาจนั้นให้สุดๆ ยึดเอาเอาคลื่นย่านความถี่ที่ว่างเปล่าทั้งหมดจากบรรดาแมวอ้วนขี้เกียจ (2 รัฐวิสาหกิจ) มาประมูล 4G ทั้งหมดเสียเลย ก็จะเป็นการทำลายล้างระบอบผูกขาดให้สิ้นซากไปเลย เพื่อให้คนไทยได้เข้าสู่สังคมอุดมปัญญาที่ประชาชนจะต้องสามารถทำ 4 อย่างพร้อมกันได้ คือ  1.ต้องเข้าถึงความรู้เหล่านี้ได้ 2.สามารถใช้ความรู้เหล่านี้ได้ 3.สามารถสร้างความรู้ได้ 4.สามารถแบ่งปันความรู้ได้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมหาศาล

ถ้าทำได้ และดีกว่าออกโทรทัศน์ทุกเย็นวันศุกร์จนผู้คนรำคาญมาก หากพลเอกประยุทธ์จะขออยู่ที่เก้าอี้แห่งอำนาจอีกหลายปี ก็คงไม่มีใครขัด เพราะอย่างไรเสียก็ดีกว่าการใช้อำนาจแบบกะปริบกะปรอยและปล่อยให้ซากของการผูกขาดมีเชื้ออยู่ไปอีกยาวนาน ซึ่งเป็นการ “เสียของ” อีกแบบ

Back to top button