มอเตอร์เวย์3สายขี่พายุ ทะลุฟ้า

อันที่จริงแล้ว โจทย์น้ำท่วม-น้ำแล้ง มันก็เป็นโจทย์อันเดียวกันแหละ


อันที่จริงแล้ว โจทย์น้ำท่วม-น้ำแล้ง มันก็เป็นโจทย์อันเดียวกันแหละ

กล่าวคือ หน้าน้ำ ก็มีเขื่อนมีอ่าง กักเก็บน้ำไว้ ไม่ปล่อยให้น้ำทิ้งลงทะเลไปโดยเปล่าประโยชน์ และพอหน้าแล้ง ก็ได้น้ำที่กักเก็บไว้นั่นแหละ นำมาใช้ประโยชน์ทั้งเพื่อการเกษตรและการอุปโภค บริโภค

หากทำได้จริง ก็คงไม่ต้องมาพบทางตันเช่นทุกวันนี้หรอก กับธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้

สำหรับประเทศไทยแล้ว แผนการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ จำเป็นต้องมีครับ

แต่พอบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นมาเป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว มหาโปรเจ็กต์น้ำไม่ได้รับการสานต่อ มาเจอเอาฟ้าฝนวิบัติเช่นนี้ ก็เลยอับจนอย่างที่เห็น

นั่นก็เป็นเหตุจากธรรมชาติ แต่ด้านความสามารถในการจัดการบริหารบ้านเมือง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สังเกตไหมครับ กระทรวงคมนาคมมีโครงการลงทุนต่างๆ มากมาย แต่ยังไม่มีโครงการใดผ่านขั้นตอนการประมูลออกมาได้สักโครงการเดียว

ยกเว้นโครงการเดียว คือ การจัดซื้อรถเมล์ขสมก .400 กว่าคัน แต่ก็ยังค้างเติ่ง เพราะมัวแต่ตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกอยู่นั่นแหละ

ล่าสุดนี้ก็คือ คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย มูลค่าลงทุนรวม 1.6 แสนล้านบาท แยกเป็นเส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 72 ก.ม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท

เส้นทางบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 ก.ม. วงเงิน 55,620 ล้านบาท และเส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 ก.ม. วงเงิน 84,600 ล้านบาท

ดูเหมือนจะดีนะครับ ที่โครงการมีความคืบหน้าถึงขั้นผ่านครม.มาแล้ว แต่ก็ไม่รู้เป็นอะไรสิน่า ที่ความเชื่อมั่นในเรื่องความสำเร็จ ไม่สู้จะมีมากนัก

ถ้าหากยังถือกฎเหล็กอยู่ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมทั้งหลาย ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง จะต้องตั้งวงเงินไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น ไม่สามารถจะจัดทำในรูปแบบของกฎหมายกู้เงินได้

ก็คงจะไม่มีโครงการใดได้จัดทำเป็นผลสำเร็จหรอก

อาทิ 3 โครงการมอเตอร์เวย์เนี้ย วงเงินลงทุนสูงตั้ง 1.6 แสนล้านบาท มันจะใช้วิธีการตั้งวงเงินเอาในงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้หรือ

นี่ยังไม่ได้นับรวมโครงการอื่นๆ เช่น รถไฟความเร็วสูงแต่ละเส้นเป็นหลายแสนล้านบาท หรือรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ ซึ่งก็อีกหลายแสนล้านบาทเหมือนกัน

ใช้วิธีการงบประมาณโบราณแบบนี้ ก็คงจะสร้างอะไรไม่ได้สักเส้นหรอก

นอกจากนั้น การสร้างขั้นตอนตรวจสอบที่ยุ่งยากในรัฐบาลทหารชุดนี้ ก็มีส่วนทำให้กระทรวงคมนาคม ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันสักโครงการเดียว

นอกจากมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีป.ป.ช. เป็นหน่วยงานตรวจสอบตามปกติอยู่แล้ว ยังมีคตร.หรือคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ ที่คสช.เป็นผู้ตั้ง เพิ่มเข้ามาอีก

ตรวจสอบเข้มกันตั้งแต่ก่อนประมูล ยันหลังประมูลแล้ว แทนที่จะเดินหน้าเตรียมตัวเซ็นสัญญา กลับยังต้องเจอหน่วยตรวจสอบเข้มยิ่งเสียกว่าก่อนประมูลอีก

ข้าราชการเนี้ย กลัวกันตัวลีบ เรื่องอะไรจะหาเหาใส่หัว เพราะมันเสี่ยงคุกเสี่ยงตะรางทั้งวันนี้และวันหน้า พอข้าราชการเกียร์ว่าง งานก็ไม่เดิน แล้วจะหาผลงานอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันในรัฐบาลชุดนี้

ผ่านครม.มาแล้วก็เถอะ คงจะหวังอะไรไม่ได้มากนัก

 

 

 

Back to top button