แบงก์บุ๊กขาดทุนประกัน
เมื่อวานนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเริ่มดีดกลับได้บ้าง
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
เมื่อวานนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเริ่มดีดกลับได้บ้าง
เช่น กสิกรไทย (KBANK) แบงก์กรุงเทพ (BBL) ส่วนกรุงไทย (KTB) ราคาปิดไม่เปลี่ยนแปลง
ก่อนหน้าเคยเขียนเกี่ยวกับกับหุ้นกลุ่มธนาคารมาแล้ว หลังจากราคาต่างปรับลงอย่างหนัก จากปัจจัยลบที่เข้ามากดดัน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลง
ขณะที่แบงก์เองต่างต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมา
ส่วนเงินฝากยังไม่ได้ปรับลดลง
มีเพียงกสิกรไทย เท่านั้นที่ปรับ (เงินฝาก) ลง ส่วนแบงก์อื่น ๆ ยังต่างรอเวลาอยู่
นอกจากเรื่องดอกเบี้ยขาลงที่เป็นปัจจัยลบ
ก็ยังมีเรื่องบริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้น อาจประสบปัญหาด้านผลประกอบการ (ขาดทุน) ในไตรมาส 3/2562
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะบริษัทประกันเหล่านั้น ต่างกำลังเผชิญกับปัญหา “ผลตอบแทนพันธบัตร” ลดลง จากดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลงทั้งของธนาคารกลางสหรัฐ ธนาคารกลางประเทศที่สำคัญ ๆ รวมถึงประเทศไทย
และทำให้ค่ายประกันชีวิตต่าง ๆ อาจจะต้องตั้งสำรองเบี้ยประกันเพิ่ม เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ของ คปภ.
เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น พอจะอธิบายได้แบบนี้ครับ
บริษัทประกันชีวิตต่าง ๆ เวลาออกกรมธรรม์ขึ้นมาฉบับหนึ่งแล้วขายให้ลูกค้า
กรมธรรม์นั้นเป็นกรมธรรม์ระยะยาว บริษัทประกันชีวิตจะการันตีผลตอบแทนว่าจะมีการ “จ่ายปันผล” ต่อปีจำนวนเท่าไหร่
ดังนั้น เบี้ยประกันที่เก็บจากลูกค้าก็จะต้องนำไปลงทุน เพื่อนำเงินมาจ่ายผลตอบแทนให้ลูกค้า
และวันที่ออกสินค้าอาจอยู่ในช่วงที่ดอกเบี้ยสูง
บริษัทประกันชีวิตจึงการันตีผลตอบแทนที่สูงได้
ทว่า ทุกวันนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วง “ขาลง” จึงทำให้ความสามารถในการจ่ายเงินยากขึ้น
นั่นเพราะบริษัทประกันชีวิตเหล่านั้น ต้องลงทุนใหม่ด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำลง จึงต้อง “ตั้งสำรอง” เพื่อเก็บเงินไว้ในอนาคต ซึ่งไม่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรก็ตาม บริษัทประกันชีวิตต้องมีเงินจ่ายให้ผู้ถือกรมธรรม์
ประเด็นของปัญหาไม่ได้อยู่เพียงเท่านี้
เพราะมีการประเมินหรือคาดการณ์ว่า บริษัทประกันชีวิตบางแห่ง หรืออาจจะหลายแห่งนั้น
พวกเขาจะต้องตั้งสำรองจำนวนมาก (มหาศาล) กระทั่งอาจจะส่งผลต่อการ “ขาดทุน” ในช่วงไตรมาส 2/2562 ได้
หรือหนักกว่านั้นหน่อยคือ อาจจะต้องบันทึกตั้งสำรองจนขาดทุนลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4/2562 หากแนวโน้มดอกเบี้ยยังเป็นขาลงต่อเนื่องตามที่คาดกันไว้
ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2558
แต่สำนักงาน คปภ. เข้ามาช่วยเหลือด้วยการผ่อนเกณฑ์การตั้งสำรองพิเศษ
เมื่อเป็นเช่นนั้น หากบริษัทประกันชีวิตมีผลขาดทุน และเป็นบริษัทที่ธนาคารถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วย
ธนาคารพาณิชย์แห่งนั้น ๆ จะต้องบันทึกการขาดทุนของบริษัทลูกในไตรมาสนั้นด้วยเช่นเดียวกัน ทำให้กำไรสุทธิที่ออกมาจะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ก่อนหน้านี้อย่างมาก
ไป ๆ มา ๆ ปัจจัยเรื่องประกันในเครืออาจขาดทุนนั้น
กลับกลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้หุ้นกลุ่มธนาคารถูกทิ้งออกมาอย่างหนัก
แต่หาก คปภ.ช่วยผ่อนเกณฑ์อัตราส่วนความเพียงพอของเงินสำรองประกันชีวิต หรือ CAR Ratio ก็จะทำให้ค่ายประกันต่าง ๆ อาจไม่ต้องบันทึกผลขาดทุน
สำหรับธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทประกันชีวิตในขณะนี้เช่น กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ แบงก์กรุงเทพ และกรุงไทย
ผ่านมาถึงตอนนี้ต้องมาลุ้นกันว่า ค่ายประกันชีวิตจะได้ปรับการผ่อนปรนเรื่องตั้งสำรองหรือไม่
หากไม่ได้รับช่วยเหลือหรือหาทางออก
ทั้งแบงก์และประกัน งบการเงินไตรมาส 3 และปีนี้ดูไม่จืดกันเลยล่ะ