พาราสาวะถี
ยืนยันไม่หวั่นไหวใด ๆ กับการตกเป็นเป้าหมายรองจากท่านผู้นำในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติวันที่ 18 กันยายนนี้ โดย วิษณุ เครืองาม ย้ำรอฟังคำถามจากฝ่ายค้านก่อนตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ก็บอกไม่รู้ ส่วนเรื่องการเปิดประชุมลับนั้น ต้องว่ากันตามหน้างาน ประเด็นนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีเรื่องละเอียดอ่อน สุ่มเสี่ยง และพาดพิงบุคคลที่สามก็ขอประชุมลับ แต่ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์อย่างที่ว่าก็ไม่ต้องประชุมลับ เรื่องประชุมลับไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
อรชุน
ยืนยันไม่หวั่นไหวใด ๆ กับการตกเป็นเป้าหมายรองจากท่านผู้นำในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติวันที่ 18 กันยายนนี้ โดย วิษณุ เครืองาม ย้ำรอฟังคำถามจากฝ่ายค้านก่อนตอบได้ก็ตอบ ตอบไม่ได้ก็บอกไม่รู้ ส่วนเรื่องการเปิดประชุมลับนั้น ต้องว่ากันตามหน้างาน ประเด็นนี้เป็นเรื่องธรรมดา ถ้ามีเรื่องละเอียดอ่อน สุ่มเสี่ยง และพาดพิงบุคคลที่สามก็ขอประชุมลับ แต่ถ้าไม่เข้าหลักเกณฑ์อย่างที่ว่าก็ไม่ต้องประชุมลับ เรื่องประชุมลับไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร
ประสาคนผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทำงานรับใช้ใกล้ชิดมาหลายรัฐบาลทั้งในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาล ดังนั้น จึงตีกินนิ่ม ๆ คงไม่มีอะไรยุ่งยากมาก “อย่าไปทำให้เป็นเรื่องตื่นเต้น เดี๋ยวคนจะตกใจกลัวเกมในสภาซึ่งเกมในสภาเป็นกติกาตามปกติ” ดิสเครดิตฝ่ายค้านไปในตัว ทำให้เห็นว่าสิ่งที่พยายามทำกันอยู่เป็นเพียงแค่เกมเท่านั้น ก่อนจะยืนยันการอภิปรายต้องไม่เกินเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 18 กันยายน
คนที่รู้ทันเล่ห์เข้าใจเหลี่ยมคูทางการเมือง คงป่วยการที่จะตอบโต้กันไปมา ท่าทีของคนในรัฐบาลเวลานี้ทำเป็นเสมือนว่าเรื่องที่ฝ่ายค้านกำลังขยับนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ และพยายามทำให้คนเห็นว่าควรจะเอาเวลาไปทำประโยชน์อย่างอื่นเสียมากกว่า ดังเช่นที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิเสธที่จะตอบคำถามของนักข่าวที่ว่าเตรียมความพร้อมต่อการไปชี้แจงในสภามากน้อยขนาดไหนแล้วด้วยคำตอบ “เอาเวลาไปแก้น้ำท่วม” ดีกว่า
คงอยู่ที่ประสิทธิภาพของพรรคฝ่ายค้านแล้วว่าในการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นนั้น มีข้อมูลเชิงประจักษ์ มีหลักฐานในทางกฎหมายที่ชี้ให้เห็นความผิดพลาดของท่านผู้นำ และทำให้คนคล้อยตามว่าข้อบกพร่องที่พบไม่ถูกต้องอย่างไร ส่วนฝ่ายรัฐบาลนอกจากแท็กติกว่าด้วยการประชุมลับแล้ว คงมีบรรดาองครักษ์ที่จะลุกประท้วงกันวุ่นวาย เป้าหมายไม่ใช่การหักล้างสิ่งที่ฝ่ายค้านพูด แต่เพื่อดึงเวลาให้เสียไปจนฝ่ายค้านเสียขบวนในการอภิปราย
ทิศทางในสภามันเห็นได้ชัดจากการเลือกวันอภิปราย ทีนี้คงต้องไปดูชั้นเชิงในการคุมเกมของ ชวน หลีกภัย ยังคงยึดมั่นในหลักการและทำให้ระบบรัฐสภาเดินไปอย่างสง่างามหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่หมากตัวหนึ่งในกระดานการเมืองของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ที่ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นกระบวนการตรวจสอบของฝ่ายค้าน ทั้งที่เดินตามครรลองอย่างถูกต้อง การทำหน้าที่ในการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 หนนี้ที่เป็นครั้งแรกจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความมั่นคงของคนที่ย้ำว่าความรับผิดชอบทางการเมืองต้องมาก่อนกฎหมาย
เวทีเดินสายรับฟังความเห็นเพื่อแก้รัฐธรรมนูญของพรรคอนาคตใหม่ ดูท่าจะกลายเป็นตำบลกระสุนตก เมื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกโจมตีด้วยประเด็นการสังคายนากระบวนการยุติธรรม ที่เจ้าตัวชี้ให้เห็นว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมานั้น มีคนจำนวนไม่น้อยที่ถูกดำเนินคดีและตัดสินให้จำคุกในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ เท่านั้นแหละ มีเสียงตอบโต้อย่างเดือดดาลออกมาจากทั่วสารทิศ ทั้งพวกขาประจำและคนที่ไม่เคยออกมาวิจารณ์
แน่นอนว่า สิ่งที่ธนาธรต้องการสื่อสารนั้น คงจะหมายถึงกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น แต่เมื่อไม่พูดให้ชัดก็จะถูกมองเป็นการตีขลุมพาดพิงไปถึงศาลยุติธรรมด้วย ซึ่งเป็นช่องโหว่ จุดอ่อนทำให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบยกมาโจมตีได้ง่าย ปัจจัยสำคัญที่นักปฏิบัติการณ์ข่าวสารชื่นชอบก็คือ ฟันธงว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นการสร้างความแตกแยก จุดกระแสความเกลียดชัง โดยที่มีพวกอุ้มสมเผด็จการสืบทอดอำนาจและฝ่ายไม่เอาระบอบทักษิณคอยเป็นลูกคู่โหมกระพือให้คนเห็นแนวคิดของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เป็นอันตรายด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ในจังหวะที่หัวหน้าพรรคถูกเล่นงาน โฆษกพรรคอย่าง พรรณิการ์ วานิช ก็ขึ้นเวทีเสวนาแล้วจัดชุดใหญ่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยโยนภารกิจสำคัญไปที่ภาคประชาชนว่า สามารถที่จะรวมตัวเรียกร้องเพื่อให้เกิดกระแสนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ผ่านขบวนการที่เรียกว่าม็อบกลางถนน เหมือนเป็นการตอกลิ่มสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษนิยมโจมตีฝ่ายประชาธิปไตยว่า เป็นพวกนิยมความขัดแย้ง ไม่ชอบทำให้บ้านเมืองสงบ
ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นกระบอกเสียงของพรรคสืบทอดอำนาจ รีบออกมากล่าวหาโจมตีคนของพรรคอนาคตใหม่ในทันทีทันใด ทั้งที่ จะว่าไปแล้วการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งหากมองไปยังเงื่อนไขในข้อกฎหมายที่เนติบริกรของคณะเผด็จการสืบทอดอำนาจวางกับดักหลักเกณฑ์ไว้ชนิดที่ว่าแก้ไขไม่ได้ ต้องอาศัยพลังจากประชาชนเป็นด้านหลัก เนื่องจากองคาพยพเผด็จการสืบทอดอำนาจต่างอ้างมาโดยตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติของประชาชน
โดยไม่ต้องไปสนใจว่าห้วงเวลาในการทำประชามตินั้น เป็นไปอย่างเปิดเผย เปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางหรือไม่ ดังนั้น หากมีใครคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าเป็นปัญหา เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศชาติ คนที่จุดประกายให้สังคมก็ไม่ควรถูกตราหน้าว่าเป็นพวกสร้างความขัดแย้งแตกแยก เพราะท้ายที่สุด กระแสของประชาชนจะจุดติดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเป็นจริง สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น หากคนเห็นว่าทุกอย่างสงบเรียบร้อย อยู่ดีกินดี ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวใด ๆ
นี่ไงความใจแคบของเผด็จการสืบทอดอำนาจ ยังคงเกรงกลัวเสียงของประชาชนและพยายามจะชี้นำ จำกัดความคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นต่าง พยายามยัดเยียดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมานั้นชอบแล้ว ดีแล้ว ใครจะมามองเห็นไปเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ กลายเป็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นแค่เปลือกที่จะถูกนำมาใช้สร้างภาพให้เผด็จการถอดรูปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริง สิ่งที่เห็นและเป็นไปคือเผด็จการในระบอบประชาธิปไตย ที่การยอมรับจากสังคมโดยเฉพาะนานาอารยะประเทศยังเป็นเครื่องหมายคำถาม