ปัจจัยลบยังอยู่
แม้ว่าเมื่อวานนี้ดัชนีปิดตลาดบวกขึ้นมาได้ (+8.10 จุด ปิด 1,674.03 จุด)
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
แม้ว่าเมื่อวานนี้ดัชนีปิดตลาดบวกขึ้นมาได้ (+8.10 จุด ปิด 1,674.03 จุด)
เพราะได้รับแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่นำโดย BBL KBANK SCB และ KTB ราคาเริ่มดีดกลับ หลังจากราคาลงไปต่ำกว่าพื้นฐานค่อนข้างมาก
ส่วนหุ้นกลุ่มสื่อสาร และไฟฟ้าตัวใหญ่ ๆ กราฟราคาเริ่มหัวทิ่มลง
หุ้นแบงก์ที่วิ่งขึ้นมาได้
นอกเหนือจากราคาลงมามากเกินไปแล้ว ยังมาจากข่าวผลตอบแทนพันธบัตร หรือบอนด์ยีลด์มีแนวโน้มดีขึ้น
แต่เรื่องนี้ยังต้องจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด
และแบงก์กลางยุโรป (ECB) ด้วยที่อาจจะออก QE2 โดยจะอัดฉีดเงินเข้าซื้อ พันธบัตรเอกชน และ รัฐบาล ในวงเงิน 3 หมื่นล้านยูโร (หรืออาจมากกว่านี้) ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 9-12 เดือน
ต้องมาดูว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยหรือมีมาตรการอะไรออกมาอย่างที่คาดหวังกันไว้หรือไม่
เพราะหุ้นที่วิ่งขึ้นมานั้น มาจากการ “คาดหวัง” ที่คาดว่าจะเป็นแบบนี้ หรือแบบนั้น
ซึ่งยังไม่ได้มีความชัดเจนอะไรเลย
มีการกล่าวเตือนด้วยว่า
เฟดอาจจะไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกก็ได้ในปีนี้
และตลาดอาจจะได้รับผลกระทบพอสมควร จนอาจทำให้ตลาดหุ้นหลายแห่งร่วงลงมาอีกครั้ง
กรณีสงครามทางการค้า จะเห็นได้ว่า ยังไม่ได้มีอะไรแน่นอน
เกมการต่อสู้ ชิงไหวชิงพริบระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังดำเนินต่อไป และเรื่องนี้บรรดานักวิเคราะห์ต่าง ๆ ก็พยายามออกมากล่าวเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไม่ได้จบลงง่าย ๆ ในวันสองวันอย่างแน่นอน
การต่อสู้เรื่องสงครามการค้ายังน่าจะทอดเวลาไปอีกพอสมควร
เพียงแต่ว่า บางช่วงของสถานการณ์อาจดูเหมือนผ่อนคลายลง แต่ไม่ได้หมายความว่า “ยุติลง”
นักวิเคราะห์ยังคงมองกรอบดัชนีหุ้นไทยอยู่ระหว่าง 1,660–1,680 จุด
โอกาสที่จะเกินจาก 1,680 นั้นค่อนข้างที่จะยาก เพราะขาดปัจจัย หรือข่าวเชิงบวกที่จะช่วยดันขึ้นไป และตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็นว่าหุ้นในกลุ่มขนาดใหญ่เช่น พลังงาน ธนาคาร จะวิ่งขึ้นในระยะยาวแบบแรลลี่ได้
ส่วนโอกาสที่หุ้นจะลงไปต่ำกว่า 1,660 จุด นั้นจะมีมากกว่า
เพราะปัจจัยลบยังพร้อมที่จะกลับมาเพิ่มความรุนแรงได้
ก่อนหน้านี้มีการให้เฝ้าระวังหุ้นขนาดใหญ่เช่น กลุ่มสื่อสาร และไฟฟ้าที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มที่มีนักลงทุนสถาบัน ประเภท “กองทุน” ถืออยู่จำนวนมาก
เพราะอาจจะมีการปรับพอร์ต หรือขายหุ้นทำกำไรออกมา แล้วนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวใหญ่ เช่น ที่กำลัง IPO อย่าง บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และตัวอื่น ๆ
แต่วิธีการขายน่าจะค่อย ๆ ทยอยขายออกมา มากกว่าจะทิ้งแบบไม้ใหญ่ ๆ
อาจจะไม่ใช่แค่นักลงทุนประเภทกองทุนที่จะขายทำกำไร
น่าจะมีนักลงทุนในตลาดกลุ่มอื่น ๆ อีก เริ่มเตรียมตัว ขาย และถือเงินสด เพื่อรอจ่ายเงิน (หุ้น) เพิ่มทุน (เช่น TMB) รวมถึงการจองหุ้น IPO ที่กำลังเข้าตลาด
มีการประเมินว่า ปัจจัยนี้จะมีอิทธิพล มากกว่า ปัจจัยลบต่างประเทศเสียอีก
“ราคาหุ้น หลายกลุ่ม/หลายตัว เริ่มหมดแรงซื้อต่อ พ่วงด้วย Valuation ที่ตึงเกินไป และ ราคาลอยอยู่ด้านบนทำให้ไม่กล้าโหลดหุ้นเพิ่ม และนักลงทุนน่าจะเลือกที่จะถือหุ้น รอจังหวะขาย เมื่อตลาดเริ่มเทแล้วหลุดจุด Trailing stop หรือล็อกกำไร”