พาราสาวะถี

ไปตอบกระทู้ถามสดของส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรประเด็นเกี่ยวกับคดีความ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ยืนยันทุกอย่างไม่มีปัญหา ไม่เคยสารภาพว่าทำผิด และยังมีกฎหมายล้างมลทิน ทำให้ตัวเองสามารถกลับมามียศนำหน้าได้เหมือนเดิม พร้อมน้ำตาไหลพรากเมื่อพูดถึงประชาชนที่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่คำชี้แจงดังกล่าวจะได้รับการยืนยันและเชื่อถือได้ คงต้องรอให้หน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องออกมาการันตีว่าสิ่งที่รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงนั้นเป็นจริงหรือไม่


อรชุน

ไปตอบกระทู้ถามสดของส.ส.ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรประเด็นเกี่ยวกับคดีความ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ยืนยันทุกอย่างไม่มีปัญหา ไม่เคยสารภาพว่าทำผิด และยังมีกฎหมายล้างมลทิน ทำให้ตัวเองสามารถกลับมามียศนำหน้าได้เหมือนเดิม พร้อมน้ำตาไหลพรากเมื่อพูดถึงประชาชนที่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่คำชี้แจงดังกล่าวจะได้รับการยืนยันและเชื่อถือได้ คงต้องรอให้หน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องออกมาการันตีว่าสิ่งที่รัฐมนตรีช่วยเกษตรและสหกรณ์ชี้แจงนั้นเป็นจริงหรือไม่

เนื่องจากระยะเวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ประกอบกับคนที่ทำผิดตามการเปิดเผยของสื่อออสเตรเลีย ก็มีการเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามหลายรอบ คงต้องไปหาคำตอบมาอธิบายให้สังคมสิ้นความสงสัย น่าเห็นใจที่เรื่องในอดีตเกือบ 30 ปีตามมาหลอกหลอนมือประสานสิบทิศประจำพรรคสืบทอดอำนาจ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนใจถึงพึ่งได้ที่ต้องมีปมให้ถูกโจมตี แต่การจะมาเล่นบทว่าทุกคนตั้งใจทำงาน เร่งแก้ปัญหาให้ประชาชน เรื่องเล็กน้อยต้องให้ผ่านไป โดยที่ยังมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่คงไม่ถูกต้อง

เพราะเรื่องเล็กที่รัฐบาลโดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มองนั้นมันไม่สอดคล้องต้องกันกับเสียงของคนส่วนใหญ่ มิเช่นนั้น คงไม่เกิดการประสานเสียงดังมาจากสารทิศ และพุ่งเป้าไปในประเด็นบริวารเป็นพิษ สิ่งสำคัญสำหรับการเมืองในยุคโซเชียลมีเดียก็คือ เมื่อคนดีมาบริหารประเทศแล้ว ลิ่วล้อและคนรายล้อมก็ต้องดีตามไปด้วย จะให้ใครที่มีตำหนิมาร่วมคณะไม่ได้ เนื่องจากมีผลต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้วกรณีนี้คงไม่มีอะไรมาก เป็นกระแสอยู่อีกพักหนึ่งแล้วก็จะซาไป แต่ที่ยังคงกระทุ้งกันต่อเนื่องเป็นเรื่องของญัตติการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีทั้งฝ่ายค้านที่ยื่นไปก่อนหน้าและประชาธิปัตย์ โดย เทพไท เสนพงศ์ ยื่นตามมาภายหลัง แต่ฟังคำตอบจาก ชวน หลีกภัย มองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องดึงญัตติดังกล่าวมาเร่งพิจารณาก่อนปิดสมัยประชุม

โดยที่วันนี้ ซึ่งมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นวาระพิเศษนั้น จอมหลักการยืนยันว่ามีญัตติด่วนกว่า 100 เรื่องที่เสนอกันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ต้องเร่งพิจารณากันให้แล้วเสร็จ เมื่อเป็นเช่นนั้นประเด็นว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงน่าจะเป็นหมันต้องไปลุ้นไปผลักดันกันในสมัยประชุมหน้า ซึ่งคงไม่สายเกินไปโดยเฉพาะจากซีกส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล จะได้ไปตั้งหลักกันก่อนว่าที่บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนในข้อ 12 นั้น แท้จริงแล้วด่วนในระยะเวลากี่ปี

ความชำนาญในการตีความไม่มีใครเกินเนติบริกรคนเก่งของรัฐบาลเผด็จการต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจ และคงไม่ต่างจากพรรคเก่าแก่ที่ช่ำชองในเรื่องของการตีกรรเชียงหาเหตุหาผลมาอธิบายเพื่อให้สังคมคล้อยตามอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหนนี้อาจจะต้องมองย้อนไปยังความรู้สึกของประชาชนด้วยว่า มองเห็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญที่กระทบต่อปากท้องด้วยหรือไม่ หากคนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็คงจะป่วยการที่จะผลักดันเดินหน้ากันอย่างเอาเป็นเอาตายในช่วงเวลานี้

คงเป็นเพราะมองเห็นทิศทางลมหรือด้วยความที่พรรคของตัวเองมีเป้าหมายในเรื่องที่ได้หาเสียงไว้แล้ว คำชี้แจงจาก อนุทิน ชาญวีรกูล  หัวหน้าพรรคพรรคภูมิใจไทยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ราคาโดยเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และพรรคก็ไม่ได้หาเสียงไว้ เห็นอย่างนี้ก็น่าหนักใจแทนเทพไทที่จะไปโน้มน้าวให้พรรคประชาธิปัตย์ช่วยกล่อมพรรคร่วมรัฐบาลให้หนุนสิ่งที่ตัวเองได้เสนอไป

คงเข้าขากันได้อย่างดีสำหรับ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ กับ ฝ่ายค้านอิสระคนล่าสุด “เสี่ยหมา” พิเชษฐ สถิรชวาล หลังจากที่รายหลังอ้างมติพรรคแถลงถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ปัจจัยหลักคงมาจากเรื่องเลี้ยงลิงของผู้กองธรรมนัสนั่นเอง โดยที่มงคลกิตติ์ได้ย้ำในประเด็นดังกล่าวอย่างเจ็บแสบว่า “ไม่ใช่ฝูงลิง แต่เปรียบเหมือนกับซ่องโจรไปปล้นสดมแล้วเอาเศษเนื้อควายมาให้กิน” เหน็บแรงขนาดนี้แล้วเพื่อนพรรคเล็กที่ยังยอมเป็นลิงอยู่จะรู้สึกอย่างไร

ช่วงนี้สำหรับเนติบริกรประจำรัฐบาล มีงานให้ชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายไม่หยุดหย่อน หลังจากต้องเล่นบทเตมีย์ใบ้จากปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ แต่กับกรณีการออกพ.ร.ก.เพื่อขยายเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว 2562 ที่ฝ่ายค้านเข้าชื่อให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วิษณุ เครืองาม ยืนยันความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเช่นนั้น พร้อมย้อนฝ่ายค้านว่ารัฐบาลเข้าใจหลักเกณฑ์การออกพ.ร.ก.ดีว่าเป็นอย่างไร

ในความหมายของฝ่ายค้านไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่เข้าใจ แต่สงสัยกันว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ไปแล้วทำไมต้องออกพ.ร.ก.มาระงับการบังคับใช้ไปก่อน หรือนี่เป็นมาตรา 44 จำแลง ซึ่งคำอธิบายของวิษณุก็พอจะเข้าใจได้ ในแง่ความไม่พร้อมของหน่วยงานที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่พบว่าบุคลากรไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อน คำถามที่สำคัญคือก่อนที่จะคลอดเป็นกฎหมายนั้น ไม่ได้ศึกษาประเด็นเหล่านี้กันหรืออย่างไร

คงต้องไปรอดูว่า ท้ายที่สุดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร ถ้าเป็นไปตามที่วิษณุว่า ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐบาลไม่สามารถออกพ.ร.ก. ดังกล่าวได้ก็ถือว่ารัฐบาลทำไม่ถูก ซึ่งในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีพระราชกำหนดไม่ผ่านรัฐบาลจึงต้องยุบสภาหรือลาออก หากเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าสนใจไม่น้อย แต่คงจะเกิดขึ้นยากคงไม่ต้องอธิบายว่าเพราะเหตุใด

ภาวะเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล ล่าสุด พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรรัตน์ ส.ส.กำแพงเพชรของพปชร.ผู้ต้องหาในคดีร่วมกับพวกล้มประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยาเมื่อปี 2552 แม้จะรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 31 ตุลาคมนี้ แต่น่าจะไม่ต่างจากพวกที่ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี เช่นนั้นก็ต้องพ้นสภาพจากความเป็นส.ส.ไปโดยปริยาย ถ้าเป้าหมายของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะต้องอยู่ครบ 4 ปีภายใต้บริบทเช่นนี้ หมายความว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพให้รัฐบาลอยู่ยาวให้ได้ต้องใช้ต้นทุนกันมหาศาลขนาดไหน

Back to top button