หุ้นฟอร์มใหญ่ที่ไม่สมราคา
ปีนี้ คงไม่มีหุ้นน้องใหม่ตัวไหนใหญ่ที่สุดไปกว่าหุ้น AWC แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) อีกแล้ว ซึ่งควรเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ตลาดหุ้นไทยจะขยายใหญ่โตขึ้นจากการเข้ามาของหุ้น “บิ๊กไซส์”
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ปีนี้ คงไม่มีหุ้นน้องใหม่ตัวไหนใหญ่ที่สุดไปกว่าหุ้น AWC แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) อีกแล้ว ซึ่งควรเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ตลาดหุ้นไทยจะขยายใหญ่โตขึ้นจากการเข้ามาของหุ้น “บิ๊กไซส์”
แต่เมื่อเจาะเข้าไปดูเนื้อใน ก็ยังมีคำถามตัวโต ๆ ว่า หุ้นตัวนี้จะเป็นหุ้นใหญ่ สมราคาไหม
ไทม์ไลน์สำคัญของหุ้นตัวนี้คือ 25-27 ก.ย. กระจายขายหุ้น และ 10 ต.ค.ศกนี้ เข้าเทรดวันแรกในตลาด ด้วยราคา IPO (จอง) 6 บาท จากราคาพาร์ 1 บาท
จำนวนหุ้นที่เสนอขายร้อยละ 22.5 (ร้อยละ 77.5 เป็นของตระกูลสิริวัฒนภักดี และบริษัทในเครือ) คิดเป็นจำนวน 6,957 ล้านหุ้น หากจำหน่ายหุ้นได้หมด ก็จะมีเงินจากการระดมทุนถึง 41,742 ล้านบาท
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ลงทุนในประเทศ 3,182.24 ล้านหุ้น (45.75%) และผู้ลงทุนต่างประเทศ 3,774.76 ล้านหุ้น (54.25%) มากกว่านักลงทุนในประเทศซะอีก
ผมขอตั้งข้อสังเกตสัดส่วนนักลงทุนต่างประเทศตรงนี้ให้ดี ส่วนหนึ่งอาจจะเป็น “ไพรเวท ฟันด์” ของผู้ถือหุ้นใหญ่มากระจุกตัวอยู่ในกองทุนชื่อดัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นแค่ “คัสโตเดี้ยน” เท่านั้นก็ได้
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หุ้น AWC เมื่อเข้าเทรด ก็คงจะไม่มีสภาพคล่องสักเท่าไหร่ เหมือนหุ้นตระกูลช้างตัวอื่น ๆ ในกระดานเวลานี้
คือผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นเข้าตลาดเพื่อหวังผลในทางเครื่องมือทางการเงินมากกว่าประสงค์อื่นใด
ด้านการกำหนดราคาหุ้น IPO เพื่อจะดูว่าถูกหรือแพง เป็นราคาที่ยุติธรรม ไม่ได้เป็นราคาที่เอาใจเจ้าของถ่ายเดียวไหม ผมก็ว่าค่อนข้างจะแพงเว่อร์ชนิด “รู้แล้วจะหนาว” เชียวนะครับ
ราคา IPO 6 บาทของหุ้น AWC กำหนดราคา P/E (ราคา/กำไรต่อหุ้น) กันสูงปรี๊ดที่ 200 เท่า ในขณะที่ P/E หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อยู่ที่ 14 เท่า เท่านั้นเอง หรือหากจะเปรียบกับหุ้นอสังหาฯชั้นดีอย่าง LH ที่ให้ปันผลสูงถึง 7% ก็ยังมี พี/อี แค่ 15 เท่า เท่านั้น
พิจารณาทางด้านมูลค่าทางบัญชี ที่จะบ่งบอกถึงสถานะทางทรัพย์สินสุทธิ เพื่อจะดู P/BV หรือราคา/บุ๊ก แวลู ก็ปรากฏว่าสูงชะลูดดูไม่จืด P/BV ตั้ง 5 เท่าแน่ะ
อันเกณฑ์ปกติของหุ้นอสังหาริมทรัพย์คุณภาพ คิดเผื่อ ๆ ก็ไม่น่าจะเกินระดับ 2.5 เท่านะ
บริษัท AWC ประกอบธุรกิจอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ มีโรงแรมทั่วประเทศอยู่ 10 โรง กลุ่มธุรกิจเพื่อการค้า และกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน
พิจารณาทางด้านผลประกอบการที่รายได้และกำไรเป็นสำคัญ ก็ปรากฏว่า ไม่ได้มีตัวเลขที่สวยงามอลังการดั่งภาพที่มองจากภายนอกเข้าไปเลย
รายได้และกำไรของบริษัทย้อนหลังไป 3 ปี ปรากฏดังนี้ ปี 59 รายได้ 9,411 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 2,890 ล้านบาท ปี 60 รายได้ 11,207 ล้านบาท กำไร 1,372 ล้านบาท และปี 61 รายได้ 12,415 ล้านบาท เป็นกำไร 489 ล้านบาท
สำหรับ 6 เดือนแรกปี 62 รายได้ 5,840 ล้านบาท กำไร 352 ล้านบาท เทียบกับช่วง 6 เดือนแรก ปีที่แล้ว รายได้ 6,523 ล้านบาท กำไร 309 ล้านบาทเท่านั้น
รายได้และกำไรของบริษัท AWC ขนาดนี้ ที่สูงสุดระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท และกำไรระดับ 2.9 พันล้านบาท ถ้าเอาไปเปรียบเทียบกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในตลาด ก็ยังมีบริษัทอื่น ๆ ทำได้เหนือกว่า ไม่น้อยกว่า 12 อันดับ
ห่างกับเซ็นทรัลพัฒนา, แลนด์แอนด์เฮ้าส์, พฤกษา หรือศุภาลัย ฯลฯ อย่างไม่เห็นฝุ่น แม้กระทั่งออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ก็ยังทำได้เหนือกว่า AWC
ทราบมาว่ามีบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ที่นำหุ้นเข้าตลาดตั้ง 4 บริษัท ซึ่งควรจะทำบุ๊ก-บิลดิ้งให้ได้ราคาตามความต้องการของนักลงทุนสถาบันขึ้นมา แต่ไม่รู้ว่าบุ๊ก-บิ๊ลด์กันแบบไหน ถึงได้เว่อร์กันในระดับ P/E ตั้ง 200 เท่า และ P/BV ตั้ง 5 เท่า
IPO ราคาตั้ง 6 บาท จำไว้ให้ดี ขอให้ช่วยกันจุดธูปภาวนา อย่าให้หลุดจอง