พาราสาวะถี
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ อุตตม สาวนายน พากันขายฝันมอบนโยบายในการประชุมรวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “ประชารัฐสร้างไทย” อย่างไรก็ตาม การตั้งโจทย์สวยหรูพร้อมแนวทางขับเคลื่อนที่ดูสวยงาม ยากที่จะเป็นไปได้ หากคนที่คิดและคณะยังตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า คนเห็นต่างคือพวกตัวถ่วงความเจริญ และประชาชนคิดไม่เป็นเอาแต่ขอ รัฐบาลก็ไม่มีปัญญาจะให้อยู่ตลอดเวลาเช่นนั้น
อรชุน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ อุตตม สาวนายน พากันขายฝันมอบนโยบายในการประชุมรวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “ประชารัฐสร้างไทย” อย่างไรก็ตาม การตั้งโจทย์สวยหรูพร้อมแนวทางขับเคลื่อนที่ดูสวยงาม ยากที่จะเป็นไปได้ หากคนที่คิดและคณะยังตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า คนเห็นต่างคือพวกตัวถ่วงความเจริญ และประชาชนคิดไม่เป็นเอาแต่ขอ รัฐบาลก็ไม่มีปัญญาจะให้อยู่ตลอดเวลาเช่นนั้น
เพราะฟังบทสรุปปิดท้ายของเฮียกวง มันส่อไปในทางนั้น เพราะอดีตหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลเผด็จการชี้ว่า คนไทยควรร่วมกันเพื่อให้พื้นฐานไทยเข้มแข็ง รัฐบาลคิดและพยายามแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ มีแต่เสียงด่า มีการกระแทกโลกออนไลน์ ทำให้เกิดความบั่นทอนจิตใจคนที่กำลังจะทำงาน อย่างไรก็ตาม อยากให้คนไทยมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงฐานรากให้เข้มแข็ง ที่ต้องใช้เวลา 5-10 ปี หลังจากนั้นชีวิตของฐานรากจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้น
ในโลกนี้มี 2 โมเดล คือประเทศไม่สนใจเปลี่ยนแปลง รอการช่วยเหลือต้องช่วยทุกปี ยิ่งนานยิ่งอ่อนแอ ในประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาคนแสวงหาความเปลี่ยนแปลง ช่วยตนเอง แม้เกษตรกรก็มั่งคั่งได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้จึงเป็นที่มาของประชารัฐสร้างไทย การยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่หนแรก และเป็นตัวอย่างที่ใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะปัจจัยต่าง ๆ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหมือนที่ชอบเปรียบเทียบไทยกับสิงคโปร์
ขณะที่อุตตมก็ขายฝันต่อในส่วนของกระทรวงการคลัง ในเรื่องการส่งผ่านสวัสดิการใช้เครือข่ายที่มี เช่น กรมธนารักษ์ ดูแลกางแผนที่ให้ธ.ก.ส. ธนาคารออมสินและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดูว่าตรงไหนใช้ที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ มาใช้ตั้งเป็นตลาดให้แผงลอยเข้ามาอยู่ ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมจะปล่อยกู้ให้กับแผงลอยดังกล่าว ประเด็นนี้มีคำถามที่สำคัญว่า การสร้างโมเดลแผงลอยทั่วไทยเป็นการสร้างงาน สร้างอนาคต แต่กำลังซื้อนั้นมีมากขนาดไหน
หากทำตัวเป็นพระยาน้อยเดินตลาด ก็จะรับรู้ได้ว่าเวลานี้กำลังซื้อของผู้คนนั้นหดหาย การจะควักจ่ายก็ทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น บรรดาร้านรวง พ่อค้าแม่ขายต่างพากันบ่นอุบ ตรงนี้ต้องตระหนัก เช่นเดียวกับที่ขุนคลังกำลังคิดว่าจะหามาตรการสนับสนุนให้เอกชนและผู้ประกอบการที่มีกำลังให้มาร่วมทำงานด้วย ภาคเอกชนสร้างเครือข่ายต่อยอดห่วงโซ่ ทำให้เกิดการพัฒนาของประเทศ ตอบโจทย์ประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
มีเสียงเตือนมาจาก เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยต่อกรณีดังกล่าว หากมองเชิงหลักการ ถือว่ารัฐบาลเดินในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเริ่มให้ความสำคัญกับฐานรากของระบบเศรษฐกิจที่ถูกละเลยมานาน แต่ถ้ามองในเชิงกระบวนการและดูรายละเอียด ซึ่งเน้นการให้สินเชื่อด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิต ถือว่ายังไม่ใช่คำตอบในเวลานี้
เนื่องจากปัจจุบันปัญหาของไทยไม่ได้อยู่ที่ผู้ประกอบการอยากลงทุนแต่ไม่มีทุน แต่อยู่ที่พวกเขาไม่อยากผลิตเพราะผลิตไปก็ไม่มีคนซื้อ จึงไม่ได้ต้องการลงทุนเพิ่ม เพราะกำลังซื้อของประเทศอ่อนแรงอย่างมาก ดังนั้น การใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นด้านอุปทานทำให้เกิด “อุปทานเทียม” โดยที่ความพร้อมด้านอุปสงค์ไม่มี ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง เพราะการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่กำลังซื้อไม่พร้อมคำถามสำคัญคือ “ใครจะกู้มาลงทุน”
แนวทางที่ถูกต้องคือ ในช่วงที่อุปสงค์อ่อนแรง กำลังซื้อหดตัวอย่างในปัจจุบัน งบประมาณส่วนใหญ่ต้องมุ่งสร้างอุปสงค์ให้เกิดขึ้น เพื่อทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในรายได้ในอนาคตจนเกิดกำลังซื้อ การลงทุนภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นการรับประกันการจ้างงานและเป็นหัวเชื้อของการลงทุนภาคเอกชน การลดภาระด้านภาษีช่วยให้รายได้ส่วนบุคคลสุทธิเพิ่มขึ้น การใช้งบประมาณเพื่อสร้างอุตสาหกรรมบริการเป็นแหล่งรายได้ที่ลงทุนไม่เยอะแต่สร้างผลตอบแทนเร็ว อย่างนี้เป็นต้น
จากนั้นในช่วงที่อุปสงค์เริ่มฟื้นตัวแต่ยังเฉื่อย งบประมาณควรจะเริ่มเข้ามาสนับสนุนด้านอุปทาน แต่ก็ยังไม่ใช่เวลาของการสนับสนุนสินเชื่อ แต่ควรเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าได้ในราคาถูกลง เพิ่มผลิตภาพการผลิตให้มากขึ้น เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล สนับสนุนปัจจัยการผลิต สนับสนุนด้านต้นทุน รวมทั้งด้านเชื้อเพลิง
สุดท้าย เมื่อธุรกิจเริ่มเพิ่มกำลังการผลิต จนใกล้เคียงศักยภาพการผลิต จึงเป็นเวลาที่รัฐบาลจะสนับสนุนในแง่ของการให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ผลิตอยากลงทุนเพิ่ม เพราะผลิตแล้วมีคนซื้อ มีกำไร แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือการใช้งบประมาณจำนวนมากทำในระยะที่ 3 ทั้งที่ประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 1 เท่านั้น จึงเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เหมาะสม สมมติฐานนี้น่าจะใกล้เคียง เพราะเม็ดเงินที่หว่านกันไปหลายรอบในระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา ถามว่าทำให้ทุกอย่างดีขึ้นหรือไม่
นี่คือ แนวทางที่นำเสนอด้วยความปรารถนาดี ไม่ได้มีการกระแนะกระแหน ไม่มีการกล่าวหาโจมตีใครทั้งสิ้น อยู่ที่ว่ารัฐบาลสืบทอดอำนาจนั้น สนใจที่จะฟัง มองความเห็นต่างอย่างเป็นมิตรหรือไม่ ซึ่งคงไม่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาและจนถึงปัจจุบันยังเห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูตลอดเวลา แค่สถานการณ์น้ำท่วมที่อุบลราชธานีจากผู้นำเผด็จการแขวะพรรคคู่แข่ง ล่าสุด สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็คงกลัวตกขบวน จึงเดินตามก้นท่านผู้นำทุกกระเบียดนิ้ว
โดยพูดในระหว่างการไปเยี่ยมผู้ประสบภัยที่เมืองดอกบัวว่าท่านทุกข์ยากเราเจ็บปวด แต่ก็ไม่วายพูดไปถึงฝ่ายตรงข้ามว่ารัฐบาลทำงานไม่มีเวลาถ่ายรูปออกสื่อ แต่ที่ตัวเองปรากฏภาพหราในการปีนป่ายและโชว์แอ๊กชั่นต่าง ๆ นั้นไม่รู้ว่าสร้างภาพหรือสื่อแอบถ่ายเองไม่ทราบ นี่ไงการเมืองน้ำเน่าเลวทรามที่ผู้นำเผด็จการพล่ามมากว่า 5 ปี พอตัวเองและคณะมาสืบทอดอำนาจก็ยังไม่ทิ้งวิธีการเหล่านั้น แล้วความสามัคคีมันจะเกิดจากไหน ส่วนที่หวังว่าจะได้คะแนนนิยมจากคนในพื้นที่ ก็ลองยุบสภาวันนี้แล้วเลือกตั้งดูจะรู้ว่าเป็นยังไง