หลังรั่ว
คงไม่ช้าเกินไปที่จะพูดถึงมาตรการสกัดกั้นการเบี้ยวหนี้ที่เกิดจากการออกตราสารหนี้ซึ่ง ก.ล.ต. ออกมาตรการ “วัวหายล้อมคอก” ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทำให้เส้นทางทำมาหากินของบริษัทหลักทรัพย์ลำบากขึ้นเพราะโดนเตะสกัดขาในตลาดตราสารหนี้ทั้งที่ว่าไปแล้วไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดของบริษัทที่เป็นคนกลางแต่อย่างใด
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
คงไม่ช้าเกินไปที่จะพูดถึงมาตรการสกัดกั้นการเบี้ยวหนี้ที่เกิดจากการออกตราสารหนี้ซึ่ง ก.ล.ต. ออกมาตรการ “วัวหายล้อมคอก” ไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทำให้เส้นทางทำมาหากินของบริษัทหลักทรัพย์ลำบากขึ้นเพราะโดนเตะสกัดขาในตลาดตราสารหนี้ทั้งที่ว่าไปแล้วไม่ได้เกิดจากการกระทำผิดของบริษัทที่เป็นคนกลางแต่อย่างใด
ปีนี้ ก.ล.ต.พบว่ากระแสหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้เริ่มมาแรงเนื่องจากตราสารหนี้ที่เกิดจาก บล.เป็นผู้จัดจำหน่ายขายให้กับลูกค้ารายบุคคลที่ไม่ต้องมีการวัดเรตติ้งเพราะขายให้ลูกค้ารายใหญ่ในวงจำกัดไม่เกิน 10 รายมีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่ปี 2559 ถึงเดือน พ.ค. 2562 มีมูลค่าทั้งสิ้น 19,500 ล้านบาท
ดูตัวเลขแล้วค่อนข้างสูงแต่เมื่อคิดเทียบกับมูลค่าตลาดตราสารหนี้รวมแล้วคิดเป็น 0.46% ของตราสารหนี้คงค้าง 4.1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2562
เรียกว่าจิบจ้อยมาก
ข้อมูลระบุอีกว่าเฉพาะในปี 2562 มีบริษัทผิดนัดชำระหนี้ 5 รายเป็นบริษัทจดทะเบียน 3 ราย (รวมรายเก่าอย่างIFEC ด้วย) ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เลวร้ายอะไรมากเพียงแต่ ก.ล.ต. ยุค “ทำผิดไม่เป็น” ยืนกรานว่าต้องหาทางไม่ให้ลุกลาม
ความหวังดีประเภท “คุณพ่อรู้ดี” จึงเกิดขึ้นมาโดยทำเป็นลืมไปว่าการปกป้องมากเกินไปคือการขัดขวางพัฒนาการของตลาดทุน
เงื่อนไขการที่ผู้ออกตราสารหนี้ออกมาขายหรือ issuer จำต้องให้เรตติ้งอาจจะเป็นกรณีทั่วไปแต่เงื่อนไขจำเพาะนี้ที่อนุญาตไม่ต้องมีเรตติ้งถือเป็นทางเลือกของตลาดทุนทุกแห่ง
ตลาดตราสารหนี้แม้จะเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงต่ำแต่อัตราผลตอบแทนที่ต่ำของตราสารที่มีเรตติ้งทำให้ตลาดแคบลงและปิดทางของโอกาสการลงทุนโดยปริยาย เงื่อนไขจำเพาะที่ตราสารหนี้ไม่ต้องมีเรตติ้งแต่ขายในวงจำกัดเพื่อเสนออัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจคุ้มกับการเสี่ยงเลยกลายเป็นช่องให้บริษัทหลักทรัพย์สร้างตลาดขึ้นมาได้
บล.ที่เป็นคนกลางสามารถเสาะหาลูกค้าตราสารหนี้เฉพาะประเภทนี้ได้โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นที่ผู้ออก “ร้อนเงิน” มากกว่าปกติถือเป็นทางเลือกน่าสนใจ
ประเด็นที่น่าเป็นห่วงตรงที่ลูกค้าที่ซื้อตราสารหนี้เฉพาะประเภทนี้ไม่ใช่นักลงทุนที่รอบคอบเสมอไปผลตอบแทนที่สูงกว่าตลาดปกติเป็นแรงจูงใจที่สามารถหักกลบความกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
นักลงทุนรายใหญ่ก็เหมือนแมงเม่าได้กรณีตราสารหนี้ที่เกิดการเบี้ยวเพราะมีคนกลางนำเสนอขายเป็นบริษัทหลักทรัพย์จึงเป็นปรากฏการณ์ปกติเพราะ “การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง” จึงไม่น่าที่ บล.ต้องรับผิดชอบ
ในกรณีเช่นนี้ความรับผิดชอบของคนกลางที่จะเข้าข่ายถือว่ามีความผิดคือนำเสนอขายสินค้าที่เกินจริงจนกระทั่งผู้ซื้อเข้าใจผิดว่าสินค้าตราสารหนี้ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่ำเกินระดับปกติ
ถ้าถามว่ากรณีนี้ต่างจากการกำหนดราคาขายหุ้นจองที่เกินจริงของที่ปรึกษาการเงินหรืออันเดอร์ไรเตอร์ในตลาดหุ้นหรือไม่
ตอบได้แค่ว่าไม่น่าจะต่างกันกี่มากน้อย
ปริมาณกับคุณภาพของมูลค่าตราสารหนี้ที่มีการเบี้ยวกันที่มีสัดส่วนต่ำมากเทียบตลาดรวมจึงไม่สมควรที่จะได้รับการปกป้องเกินจริง
ที่น่าสนใจคือในบรรดาลูกค้ารายใหญ่ที่ถูกเบี้ยวตราสารหนี้ที่ถูกเปิดออกมาเกินกว่าครึ่งเป็นกองทุนที่บริหารโดย “มืออาชีพ” อย่าง บลจ.ทั้งหลาย ดังนั้นการปกป้องที่เกินจริงจึงเปรียบเสมือนการสร้างความเคยชินที่ผิดพลาดว่าการลงทุนในตราสารหนี้ไร้ความเสี่ยงทุกทาง
การปกป้องเกินขนาดเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นผลดีกับตลาดโดยรวมในอนาคตเพราะเป็นการสร้างนิสัย “แมวขี้เกียจจับหนู” ให้นักลงทุนบางประเภทที่ไม่สมควร
เข้าทำนองกองหน้าดีแต่กองหลังรั่ว
ยังมีเวลาแก้ไขเพราะคิดผิดสามารถคิดใหม่ได้ทุกเมื่อถ้าไม่มีอคติมากเกิน