ECF ได้(ไม่)คุ้มเสีย.!?
ดีลที่บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด (KPN Academy) ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 57.52% คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 460.18 ล้านบาท ถ้ามองเผิน ๆ เป็นการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั่ว ๆ ไป...
สำนักข่าวรัชดา
ดีลที่บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF จะเข้าซื้อหุ้นบริษัท เคพีเอ็น อะคาเดมี จำกัด (KPN Academy) ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 57.52% คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 460.18 ล้านบาท ถ้ามองเผิน ๆ เป็นการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั่ว ๆ ไป…
แต่คำถามที่ตามมา ดีลนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ??
เป็นที่รู้กันว่าธุรกิจหลักของ ECF คือขายเฟอร์นิเจอร์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการเติบโตเริ่มถดถอยลงเรื่อย ๆ
เป็นโจทย์ให้ช่วงที่ผ่านมา ECF ต้องเสาะแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ…
ก่อนหน้านี้ ECF ไปร่วมลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้ากับบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC แต่ IFEC มีปัญหาภายใน ดีลก็เลยเงียบหายไป..
หลังจากนั้นก็ควงแขนบริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ META และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมา ซึ่งเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนด COD อย่างเป็นทางการ…ก็เลยยังไม่มีรายได้เข้ามา
ต่อมารุกไปสู่ธุรกิจไอที โดยเตรียมเข้าซื้อกิจการบริษัท เอสเทรค ประเทศไทย จำกัด (STREK) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอทีแบรนด์ต่าง ๆ แต่ภายหลังพบปัญหาทางด้านบัญชี ดีลก็เลยล่มไป…
ล่าสุดมาสู่ธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีและสอนภาษา ในนาม KPN ซึ่ง ECF หวังต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์ม E-Learning ซึ่งเชื่อว่ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
โดย ECF จะออกหุ้นเพิ่มทุนแลกชำระค่าตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ KPN Academy จำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายณพ ณรงค์เดช, โกลเด้น ไทเกอร์ แอสโซซิเอทส์ แอลทีดี, นายณัฐวุฒิ เภาโบรมย์ และนางแสงเดือน อิ่วบำรุง รวมมูลค่า 460.18 ล้านบาท
นั่นจะทำให้กลุ่มณพ เข้ามาถือหุ้น ECF ในสัดส่วน 15.06%
ทำให้ถูกตั้งคำถามทันทีว่า แพงไปหรือไม่กับมูลค่าหุ้นที่สูงถึง 460.18 ล้านบาท แถมกลุ่มณพ ได้หุ้น ECF ไปถึง 15.06%
แต่ ECF กลับได้บริษัทที่มีปัญหาขาดทุนเรื้อรังเข้ามาอยู่ในพอร์ต…
เพราะถ้าไปส่องงบการเงินของ KPN Academy ย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าขาดทุนมาโดยตลอด ปี 2559 ขาดทุน 16.13 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 6.11 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ขาดทุนเพิ่มเป็น 605.34 ล้านบาท แถมยังมีหนี้เสียก้อนโต 319.54 ล้านบาทอีกด้วย
ฟากบริษัทลูก KPN Music ทำธุรกิจโรงเรียนสอนดนตรีสากล ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องทุกปีเช่นกัน ปี 2559 ขาดทุน 2.66 ล้านบาท จากรายได้การขาย 17.77 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 37.28 ล้านบาท จากรายได้การขาย 22.11 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุนเพิ่มเป็น 83.43 ล้านบาท จากรายได้การขาย 19.59 ล้านบาท
ส่วน KPN Chinese โรงเรียนสอนภาษาจีน ปี 2559 ขาดทุน 4.98 ล้านบาท จากรายได้บริการ 16.82 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 4.33 ล้านบาท จากรายได้บริการ 20.02 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 7.41 ล้านบาท จากรายได้บริการ 14.08 ล้านบาท
แหม๊..!! เห็นตัวเลขขาดทุนแล้วชักไม่แน่ใจว่า นี่เป็นโอกาสหรือความเสี่ยงกันแน่ ??
ที่สำคัญอย่าลืมว่า ตระกูลณรงค์เดช ยังมีปัญหาขัดแย้งกันภายใน แล้วจะไม่ส่งผลกระทบต่อดีลนี้ภายหลังหรือไม่ ? อย่างไร ?
เอ๊ะ !! หรือดีลนี้ยังมีอะไรซ่อนอยู่ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้นะ
คงไม่มีใครตอบคำถามเหล่านี้ได้ดี
เท่ากับ “อารักษ์ สุขสวัสดิ์” และ “ณพ ณรงค์เดช” จริงมั้ย ??
…อิ อิ อิ…