แบงก์ไซด์เวย์ต่อไป

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 7: 0 เสียงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 7: 0 เสียงคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%

จะว่าไปแล้วนะ

มติที่ออกมาแบบนี้ไม่ได้อยู่นอกเหนือคาดการณ์ของตลาดซักเท่าไหร่

เพราะส่วนใหญ่จะฟันธงออกมาแล้วว่า กนง.คงดอกเบี้ยไว้แน่นอน

เพียงแต่ว่า แอบลุ้นจะมีเซอร์ไพรส์เชิงบวกเท่านั้นว่า กนง.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ เพื่อช่วยลดความอึมครึมทั้งหมดออกไป

ทว่า ดอกเบี้ยไม่ได้ถูกปรับลดลง

ทำให้สิ่งที่ถูกคาดหมายว่า จะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยปรับลง ก็ยังคงแกว่งต่อไป

มาดูเหตุผลของ กนง.กันอีกครั้ง

กนง.ให้เหตุผลถึงการคงอัตราดอกเบี้ยว่า ด้วยการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัว 2.8%

ตัวเลขนี้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 3.3%

ปัจจัยลบมาจาก การส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวกว่าคาด ส่งผลไปถึงอุปสงค์ในประเทศ

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน

ทว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้ “อัตราเงินเฟ้อ” ทั่วไปกลับสู่ “กรอบเป้าหมาย”

จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

มีประเด็นที่น่าสนใจเพิ่ม

นั่นคือ ผลการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ (หรือ 7:0 เสียง ) แสดงให้เห็นว่า คณะกรรมการยังคงกังวลในเรื่องผลกระทบจากการปล่อยให้ “ดอกเบี้ย” อยู่ที่ระดับต่ำเป็นเวลานาน

ในปี 2562 นี้ กนง.มีกำหนดประชุมอีก 2 ครั้ง

คือวันที่ 6 พ.ย. 62 และ 18 ธ.ค. 62

บรรดานักคาดการณ์ต่างสร้างความหวังต่อไปว่า กนง.อาจจะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป หรือไม่ก็ครั้งสุดท้ายของปีนี้ก็อาจเป็นได้

แต่ยังมีเสียงที่ให้สังเกตว่า มติที่ออกมาเป็นเอกฉันท์ในครั้งนี้นั้น

ทำให้มีโอกาสที่ กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ไว้จนสิ้นปี 2562 เลยก็ได้

และอาจจะไม่มีการปรับลดลงอีกแน่นอน

อย่าลืมว่า ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทยเคยต่ำสุดที่ 1.25% และเป็นยุคสมัยต้มยำกุ้ง หรือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยน่าจะวิกฤตที่สุดเลยนะ

วกกลับมาที่หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ตามที่พาดหัวคอลัมน์ไว้

ทราบกันดีว่า หุ้นแบงก์ที่ผ่านมาไซด์เวย์อย่างมาก

หรือหากดูจากกราฟ (ตามรูป) เกือบแทบจะเป็น Sideway Down

ปัจจัยหลัก ๆ มาจากเรื่องดอกเบี้ยนโยบายนี่แหละ เพราะต่างเฝ้าดูว่า ดอกเบี้ยจะลงอีกไหม และแบงก์จะได้รับผลกระทบอย่างไร

จริง ๆ แล้วบรรดานักวิเคราะห์ต่างทำเหตุการณ์สมมุติที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มแบงก์ไว้แล้ว

ว่าหากดอกเบี้ยลงมาอีก จะกระทบกับแบงก์ไหนอย่างไร

แล้วหากยังไม่ได้ลด (ดอกเบี้ย) แบงก์จะเป็นอย่างไร

แต่เมื่อยังไม่มีความชัดเจนแบบนี้ หุ้นแบงก์ที่ไซด์เวย์มาโดยตลอด ก็น่าจะยังแกว่งตัวต่อไป

ราคาหุ้นมีโอกาสผันผวนได้ต่อเนื่องไปจนกว่าทุกอย่างจะมีความชัดเจน

ยกเว้นแต่ว่า บางแบงก์ที่อาจจะมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ก็อาจทำให้ราคาหุ้นกลับมามีเสถียรภาพได้เร็ว

Back to top button