‘Window Dressing’ กับ ‘การไล่ซื้อหุ้น’
ประเด็น Window Dressing มักจะถูกกล่าวถึงในช่วงสิ้นไตรมาสเป็นประจำ เพราะเป็นเทศกาลของการปิดงบการเงิน เพื่อการทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดี
เส้นทางนักลงทุน
ประเด็น Window Dressing มักจะถูกกล่าวถึงในช่วงสิ้นไตรมาสเป็นประจำ เพราะเป็นเทศกาลของการปิดงบการเงิน เพื่อการทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดี ทั้งนักลงทุนสถาบัน กองทุน และบริษัทที่ลงทุนในหุ้น ทำการซื้อดันราคาหุ้น ให้หุ้นมีราคาปิดที่สูงขึ้น ทำให้พอร์ตที่ลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลเวลาปิดงบการลงทุนรายไตรมาสออกมาดูดี NAV มีค่าเพิ่มสูงขึ้น
เหตุการณ์นี้หากจะมองเป็นการตกแต่งตัวเลขทางบัญชีให้สวยขึ้นก็ว่าได้ !
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ Window Dressing มักจะถูกกล่าวถึงในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นไตรมาส เพราะจะมีการไล่ราคาหุ้นบางตัว (รวมทั้งตลาดฯ โดยรวม) มักปรับตัวขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นการทำตัวเลขทางบัญชีให้ดูดีนั่นเอง
ตอบโจทย์ด้วยข้อมูล บล.ทิสโก้ ระบุว่า จากการศึกษาความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในช่วงปลายเดือนของทุกไตรมาสย้อนหลังนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2009 เป็นต้นมา พบว่าภาพโดยรวมมีโอกาสเกิดผลกระทบ Window Dressing เฉลี่ยประมาณ 57% โดยในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 มีโอกาสเกิดสูงที่สุดราว 64% และโดยเฉลี่ยจะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น 0.5% และเพิ่มขึ้น 1.4% ตามลำดับ ขณะที่ในไตรมาส 3 มีโอกาสเกิดน้อยที่สุดเพียง 40% และให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ลดลง 0.6%
นอกจากนี้ หากพิจารณากับทิศทางของ SET Index ในแต่ละไตรมาสที่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดผลกระทบ Window Dressing ในไตรมาสนั้น (มีความแม่นยำสูงราว 71%) ร่วมด้วยแล้ว มองว่าโอกาสเกิด Window Dressing สำหรับไตรมาส 3 ปีนี้ต่ำเพียง 20%
ดังนั้นการจะเกิด Window Dressing ช่วงไตรมาส 3 ตามสถิติมีโอกาสเกิดน้อย หรืออาจไม่เกิดก็ได้ !?
ถึงอย่างไรก็ดี…แม้ภาพรวมของตลาดฯ ไม่คาดหวังว่าจะเกิด Window Dressing ในไตรมาส 3 นี้ ถึงอาจเกิดขึ้นก็ไม่สามารถผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไปไกลสักเท่าไร เพราะภาพรวมภาวะตลาดหุ้นช่วงนี้ยังต้องเจอแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ประกอบกับยังไม่มีปัจจัยใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุน
กลับกัน แต่ยังมีการคาดหวังว่าจะเกิด Window Dressing
สำหรับหุ้นบางตัวยังคาดหวังการเกิด Window Dressing ได้ ! จากการสังเกตพฤติกรรมในอดีตพบว่า หุ้นรายตัวที่มีโอกาสเกิด Window Dressing ตัวอย่างเช่น บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF
บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) หรือ MBK, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH, บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP, บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO, บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT,
บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI, บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL
บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH, ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI เป็นต้น
ตัวอย่างหุ้นข้างต้น เป็นการสมมุติฐานว่าจะมีโอกาสการเข้าเก็งกำไรหากเกิดการทำ Window Dressing ! เพราะหุ้นส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่กลุ่มกองทุนถือค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ Window Dressing อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ได้ !? เป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากเป็นความคาดหวังของตลาดฯ เท่านั้น แต่ถ้าหากเกิดการทำ Window Dressing ขึ้นจริง นักลงทุนก็จะได้รับประโยชน์จากการเก็งกำไรระยะสั้นในกลุ่มหุ้นเป้าหมายที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นในช่วง Window Dressing !!!!