ทะเลของความเสี่ยง (1)พลวัต2015
ราคาหุ้นที่ร่วงชนิดกู่ไม่กลับของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ชนิดที่ต่ำกว่าบุ๊คแวลู (ทั้งที่บุ๊คแวลูดังกล่าวในปัจจุบันได้ถูกปรับลดลงมาจากเมื่อต้นปีครั้งนั้นแล้ว) ในรอบหลายเดือน เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจสำหรับนักลงทุน เพราะมันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่า จะขายทิ้งตัดขาดทุน หรือ ถือไว้เพื่อรอวันขึ้นระลอกใหม่ หรือเข้าซื้อถัวเฉลี่ยเพื่อลดการขาดทุน
ราคาหุ้นที่ร่วงชนิดกู่ไม่กลับของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ชนิดที่ต่ำกว่าบุ๊คแวลู (ทั้งที่บุ๊คแวลูดังกล่าวในปัจจุบันได้ถูกปรับลดลงมาจากเมื่อต้นปีครั้งนั้นแล้ว) ในรอบหลายเดือน เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจสำหรับนักลงทุน เพราะมันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจว่า จะขายทิ้งตัดขาดทุน หรือ ถือไว้เพื่อรอวันขึ้นระลอกใหม่ หรือเข้าซื้อถัวเฉลี่ยเพื่อลดการขาดทุน
ก่อนหน้านี้ เรื่องการขาดทุนนอกเหนือจากผลประกอบการที่แท้จริง จนมีผลต่อตัวเลขทำกำไรของบริษัทเกินกว่าครึ่ง ได้มีการพูดถึงมาแล้วจากบทวิเคราะห์ของสำนักโบรกเกอร์หลายแห่ง ซึ่งมีตัวเลขแตกต่างกันมาก จนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารของ PTTEP ออกมาชี้แจง แม้จะไม่ละเอียดทั้งหมด ตอกย้ำว่านักวิเคราะห์มีส่วนถูกไม่น้อย ถือเป็นการส่งสัญญาณทางลบชัดเจน
คำอธิบายของ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTEP ยอมรับว่า ไตรมาส 2 ที่กำลังจะมีการประกาศงบนั้น บริษัทมีโอกาสขาดทุนจากการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น โดยการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันตั้งแต่ต้นปี โดยจ่ายเงินป้องกันความเสี่ยงขาลงเอาไว้ แต่ปรากฏว่า ราคาน้ำมันนอกจากไม่ลงแล้ว ยังปรับตัวขึ้นมาในลักษณะที่เรียกว่าอัพไซด์
ผลลัพธ์คือมีความเสียหายจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้น เรียกว่า Hedging Loss โดยบริษัททำไปแล้วถึง 100% ของเป้าที่กำหนดไว้
ที่ร้ายกว่านั้นผลกำไรที่ลดลง สะเทือนไปถึงงบการเงินของบริษัทแม่คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT อย่างเลี่ยงไม่พ้น เพราะที่ผ่านมา กำไร 60% ของ PTT มาจากคุณูปการของ PTTEP ตลอด
เนื่องจากหุ้นทั้งสองมีมาร์เก็ตแคปรวมกันสูงมาก ถึงขั้นที่หากราคาหุ้นทั้ง 2 รายเปลี่ยนแปลง 1 บาทจะมีผลต่อดัชนีตลาดเกือบ 1 จุดทีเดียว แล้วหากกำไรบริษัททั้งสองลดลง ส่งผลต่อราคาหุ้นถูกแรงขายทิ้ง โอกาสที่ดัชนีและมาร์เก็ตแคปของตลาดโดยรวมจะกลับเป็นขาขึ้น จึงยากแสนเข็ญ
หากลงลึกแบบนักวิเคราะห์ จะมีรายละเอียดว่า กำไรที่จะลดลงในไตรมาสนี้ของ PTTEP เกิดจากการขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดจากผลประกอบการจริง อันเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ โดยที่หากไม่มีตัวเลขนี้ PTTEP จะมีกำไรอยู่ที่ระดับ 6.7 พันล้านบาท ถือว่าปกติในช่วงตลาดขาลง แต่การขาเดทุนและค่าใช้จ่ายทางการเงินที่อยู่นอกผลประกอบการ ยิ่งซ้ำเติมให้เลวร้ายเกินจริงไปมาก อาทิ
– ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 4% (ปลายเดือนมีนาคม-สิ้นมิถุนายน) จากระดับ 32.52 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้หนี้สกุลเงินตราต่างประเทศมีผลขาดทุน 20 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 675 ล้านบาท
– ขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงในค่าเงินอีก 50 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 1,689 ล้านบาท
– ค่าใช้จ่ายพิเศษ Deferred Tax จำนวน 73 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 2,466ล้านบาท
– ค่าตัดจำหน่ายหลุมแห้งจำนวน 844 ล้านบาท
หากพิเคราะห์ถึงรากเหง้าจะพบว่า ตัวเลขขาดทุนและค่าใช้จ่ายที่ควบคุมไม่ได้นี้เป็นส่วนหนึ่งที่เลี่ยงไม่พ้นของการแปลงสภาพจากบริษัทสำรวจและขุดเจาะพลังงาน จากบริษัทท้องถิ่น เป็นบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เกิดขึ้นช่วง 10 ปีมานี้ของ PTTEP ในฐานะหัวหอกของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ กลุ่มปตท.
(อ่านต่อฉบับหน้า)