พาราสาวะถี
ชอบแสดงวิสัยทัศน์ โชว์ภูมิความรู้แต่สุดท้ายมักจะวกกลับเข้าตัวเองทุกครั้งสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ล่าสุด กับคำพูดประเทศที่เจริญแล้วประชาชนเขาเคารพกฎหมายทุกตัว มีแต่ประเทศไทยที่มีความเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายตลอดเวลา คำถามก็คือ ถ้ากฎหมายดีโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ จะมีคนมาเรียกร้องให้แก้ไขอย่างนั้นหรือ และก็ไม่ใช่รัฐบาลสืบทอดอำนาจหรอกหรือที่บรรจุเรื่องนี้ไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ด้วย
อรชุน
ชอบแสดงวิสัยทัศน์ โชว์ภูมิความรู้แต่สุดท้ายมักจะวกกลับเข้าตัวเองทุกครั้งสำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ล่าสุด กับคำพูดประเทศที่เจริญแล้วประชาชนเขาเคารพกฎหมายทุกตัว มีแต่ประเทศไทยที่มีความเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายตลอดเวลา คำถามก็คือ ถ้ากฎหมายดีโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ จะมีคนมาเรียกร้องให้แก้ไขอย่างนั้นหรือ และก็ไม่ใช่รัฐบาลสืบทอดอำนาจหรอกหรือที่บรรจุเรื่องนี้ไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ด้วย
เป็นการให้ความเห็นย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลของตัวเองกำลังจะทำ และน่าจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจจากสิ่งที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพูดว่า ที่บรรจุเรื่องเร่งด่วนไว้เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เพราะหนีเงื่อนไขที่ยื่นมาโดยพรรคร่วมอย่างประชาธิปัตย์ไม่ได้ใช่หรือไม่ จึงต้องทำไปเพื่อไม่ให้เสถียรภาพของตัวเองสั่นคลอน แต่ความเร่งด่วนที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาเพื่อนำไปสู่การแก้ไขจะเป็นเมื่อใดนั้นก็อีกเรื่อง
ไม่ต่างกันกับสิ่งที่บอกว่ามีแต่คนจ้องจะเลิกกฎหมายและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คนที่พูดเองถามต่อว่าได้แสดงความรับผิดชอบอย่างไรต่อการที่ตัวเองกระทำการขัดรัฐธรรมนูญจากปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนแล้วหรือไม่ ในเมื่อตัวเองยังกระทำการขัดต่อกฎหมายสูงสุดของประเทศและทำเฉย ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านเลย เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีเช่นนี้แล้ว จะมาเรียกร้องให้คนอื่นฝ่ายอื่นยึดถือกฎหมายด้วยการอ้างประเทศที่เจริญแล้วได้อย่างไร
คงเป็นเพราะมีศรีธนญชัยด้านกฎหมายอยู่ใกล้ตัวและชี้ช่องให้หลบหลีกจนเคยตัว ปากจึงอ้างเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไม่เคอะเขิน ทั้งที่ตัวเองก็กระทำผิดและยังไร้ซึ่งความรับผิดชอบใด ๆ ความจริงประเด็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าจะปฏิเสธการขอเข้าพบของ 7 พรรคฝ่ายค้านก็บอกไปเลยว่า ไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะมาถือธงนำในเรื่องนี้ ขอให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไปพูดคุยและดำเนินการกันเอง น่าจะดูสวยหรูกว่า
พอมาแสดงท่าทีแบบนี้ ในบริบทที่มีนโยบายเร่งด่วนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลค้ำคออยู่ มันจึงดูเป็นพฤติกรรมที่ไปลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเพิ่มเข้าไปอีก ไม่ต่างกันจากประเด็นกูเกิล ทั้ง ๆ ที่เพิ่งกระโดดเข้ามาเล่นโซเชียลมีเดีย แต่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจพูดเหมือนผู้ช่ำชองตามมาด้วยการถูกกล่าวหาว่าดูถูกประชาชน การอ้างแบบข้าง ๆ คู ๆ ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกดีขึ้นมาแม้แต่น้อย เว้นเสียแต่พวกที่เชียร์แบบไม่ลืมหูลืมตาเท่านั้น
อย่างที่ จาตุรนต์ ฉายแสง ว่า ดูถูกประชาชนตอนที่บอกว่าไม่รู้จักใช้ยังไม่พอ ตอนแถยังไม่วายว่าประชาชนอีก แต่พอฟังทั้งหมดที่พูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว ใครก็ฟังออกว่าท่านผู้นำที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “ไม่รู้เรื่องเหล่านี้เลยจริง ๆ แล้วยังอวดฉลาดอีก” ยิ่งการเลือกที่จะไปพูดบนเวทีระดับสากลเสียด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เป็นเรื่องน่าอับอาย หรือคิดว่าพอลอกคราบเผด็จการแล้วต้องทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าผู้นำที่มาจากระบอบประชาธิปไตยของไทยนั้น รู้เรื่องราวต่าง ๆ ของโลกเป็นอย่างดีผ่านกูเกิล (ฮา)
ขณะที่การกลับมารอบนี้ นอกจากจะโชว์ภาวะผู้นำจากระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่แล้ว ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังต้องการแสดงตัวว่า ตัวเองมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ จึงอาสานั่งหัวโต๊ะกุมบังเหียนครม.เศรษฐกิจด้วยตัวเอง ส่วนหนึ่งพอจะเข้าใจได้ว่าเนื่องจากมีพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญสองพรรคอย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย หากปล่อยให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นำทัพเหมือนเดิม โอกาสจะเกิดการปีนเกลียวมีสูง
จึงต้องออกโรงมาบัญชาการเกมด้านเศรษฐกิจด้วยตัวเอง แต่ทำไปทำมาแค่ระยะเวลาไม่เท่าไหร่ คนส่วนใหญ่ก็ได้เห็นทิศเห็นทางกันแล้วว่า มันไม่เป็นเนื้อเดียวกัน งานด้านเศรษฐกิจเป็นไปในลักษณะต่างกันต่างพรรคต่างทำ เพื่อเร่งสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ โดยมีเป้าหมายในการเอาใจและตอบโจทย์ฐานเสียงที่สนับสนุนแต่ละพรรค อันจะเห็นได้ว่าถ้าเป็นผลงานของพรรคใดแล้วถูกโจมตี พรรคร่วมอื่น ๆ จะรีบโยนให้เป็นเรื่องของผู้ที่รับผิดชอบต้องชี้แจงและแบกรับกันเอง โดยไม่ได้แยแสใด ๆ
ด้วยเหตุนี้ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จึงออกมากระทุ้งแรง ๆ เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าทีมเศรษฐกิจโดยด่วน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประเทศกลับคืนมา พร้อมเปรียบเปรยได้เจ็บจี๊ดว่า พลเอกประยุทธ์ที่บริหารประเทศมากว่า 5 ปีพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ความหวังที่จะจุดประกายให้กับประชาชนลืมตาอ้าปาก หากแต่เป็น “ความหวังหมด” โดยยกโพลมายืนยันว่า ทั้งประชาชนและนักธุรกิจ ไม่เชื่อถือ
แน่นอนว่า พอเป็นเสียงจากซีกฝ่ายค้านย่อมมีทางที่จะตอบโต้ได้ง่าย แต่ความเป็นจริงสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่สัมผัสได้ ย่อมเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนกว่า การอยู่ดีกินดีของประชาชนเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ถ้าไม่ปั้นตัวเลขเหมือนคะแนนนิยมในตัวท่านผู้นำที่เคยพุ่งไปถึงร้อยละ 99.5 ก่อนหน้านี้ ลองให้หน่วยงานที่สำรวจความคิดเห็นดังว่าไปสัมผัสสัมภาษณ์ประชาชนดูก็ได้ว่า เสียงชื่นชมกับก่นด่า อย่างไหนที่รุนแรงหนักหน่วงมากกว่ากัน
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ทำงานได้อย่างน่าผิดหวัง สำนักงานกกต.กับปมของ นวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.เขต 7 ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ที่จะเรียกว่าแสดงความมักง่ายหรืออย่างไรไม่ทราบ เมื่อส่งหนังสือไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่ดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ปมเรื่องสถานภาพของส.ส.คนดังว่ายังคาราคาซังอยู่
สุดท้ายจึงถูกตอกหน้าหงายเมื่อสำนักงานเลขาธิการครม.ตีเรื่องกลับ ย้ำว่ายังไม่มีการตีความเรื่องสถานภาพของส.ส.ของนวัธ โดยทางสำนักงานกกต.ก็แก้ต่างว่าเป็นการประสานงานทางธุรการตามขั้นตอน และแนวทางปฏิบัติเพื่อเตรียมการในเบื้องต้นเท่านั้น และยอมรับด้วยว่า กกต.ทั้ง 7 คนยังไม่ได้มีความเห็นประเด็นสมาชิกภาพดังกล่าว ข้อแก้ต่างฟังขึ้นหรือไม่ปัญญาชนทั้งหลายย่อมกระจ่างอยู่ในตัว ทำไมจึงมั่วซั่วได้ขนาดนี้ นี่ไงคือเหตุผลที่ว่าทำไมความน่าเชื่อถือจึงต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงเรื่อย ๆ