Growth โจทย์เดิม คำตอบเปลี่ยน

สิ่งที่พิสูจน์ความสำเร็จของการทำธุรกิจ อาจไม่ใช่เพียงแค่ “กำไร” มากหรือน้อยเพียงใด แต่ทว่าสำคัญกว่านั้นคือการเติบโต (Growth) โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ การทำให้บริษัท “เติบโตอย่างต่อเนื่อง” ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตด้านขนาดบริษัทหรือการเติบโตทางด้านส่วนแบ่งตลาด


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

สิ่งที่พิสูจน์ความสำเร็จของการทำธุรกิจ อาจไม่ใช่เพียงแค่ “กำไร” มากหรือน้อยเพียงใด แต่ทว่าสำคัญกว่านั้นคือการเติบโต (Growth) โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จ คือ การทำให้บริษัท “เติบโตอย่างต่อเนื่อง” ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตด้านขนาดบริษัทหรือการเติบโตทางด้านส่วนแบ่งตลาด

กระบวนการสู่การสร้างการเติบโต หนีไม่พ้นการขยายตัวของบริษัท ที่ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกการเติบโตแบบภายใน(Organic Growth) หรือการเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) สูตรสำเร็จอาจไม่ใช่จากการเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและโอกาสของแต่บริษัทไป

การเติบโตจากภายใน (Organic Growth) คือการเติบโตที่เกิดขึ้นด้วยธุรกิจของบริษัทเอง ผ่านการขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ หรืออาจเรียกว่าเป็นการเติบโต “ตามธรรมชาติในอดีตที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับ Organic Growth ที่ถือเป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากร ที่โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่ง

การเติบโตจากภายนอก (Inorganic Growth) คือการเติบโตทางลัดจากปัจจัยภายนอก ผ่านกระบวนการควบรวมหรือการซื้อกิจการ (Merger & Acquisition: M&A) เพราะเป็นทางลัดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท อาจเป็นธุรกิจเดียวกับธุรกิจเดิมหรือธุรกิจใหม่

กระบวนการ M&A อาจแบ่งแยกได้ 3 ประเภท นั่นคือ การ Merger หรือการควบรวมกิจการโดย 2 บริษัท ต่างฝ่ายต่างนำทรัพย์สิน หนี้สินและหุ้นตนเองทั้งหมด มารวมกันเพื่อกลายเป็นบริษัทเดียว โดยเป็นการรวมหรือซื้อรวมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้ถือหุ้น

ขณะที่การ Acquisition เป็นการซื้อหรือควบรวบเพียงบางส่วนของบริษัท อาทิ บริษัท A ต้องการเฉพาะแผนกผลิตสินค้าบางส่วนของบริษัท B แต่ไม่ต้องการแผนกผลิตสินค้าอื่น ๆ จากบริษัท B แต่ปัจจุบันมักเรียกรวมกันว่า M&A นั่นเอง

ส่วนการ Takeover จะเป็นลักษณะการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทอื่น ๆ จนมีอำนาจการบริหาร จนเข้าข่ายกลายเป็นการ“เข้าครอบงำกิจการ” สามารถเป็นได้ทั้งการครอบงำที่เป็นมิตรหรือไม่เป็นมิตร แล้วแต่สถานการณ์และวิธีการที่เกิดขึ้น

แต่ทว่า Inorganic Growth ยังมีลักษณะอื่น ๆ นอกเหนือจากการควบรวมกิจการ คือ การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือนโยบายรัฐ หรือ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลประโยชน์ให้บริษัท ตามหลักสากล ถูกมองว่าเป็นการเติบโตที่เกิดจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุม จึงไม่สามารถเรียกว่า Organic Growth ได้

ด้วยพลวัตธุรกิจและแรงกดดันสู่การเติบโต จึงทำให้ Inorganic Growth เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมกันมาก จากบริษัทจดทะเบียนไทย เพราะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทได้รวดเร็ว หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการทำลายกำแพงทางตันของธุรกิจเดิมด้วยเช่นกัน

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงได้เห็นบริษัทต่าง ๆ หยิบฉวยกลยุทธ์การเติบโตแบบ Inorganic Growth มาใช้กันอย่างแพร่หลายและทวีคูณมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า การเติบโตจากภายในอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ กับโลกธุรกิจยุคใหม่อีกต่อไปแล้ว..!!??

Back to top button