SPA ตัดไฟต้นลม.!?
ถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม..! ก่อนที่จะกลายเป็นไฟลามทุ่ง กรณีบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ประกาศยกเลิกร่วมลงทุนในบริษัท ชบา เอลลิแกนซ์ จำกัด (CHABA) ประกอบธุรกิจให้บริการทำเล็บ สปามือ-เท้า และต่อขนตา ภายใต้ชื่อ Chaba Nails & Spa
สำนักข่าวรัชดา
ถือเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม..! ก่อนที่จะกลายเป็นไฟลามทุ่ง กรณีบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ SPA ประกาศยกเลิกร่วมลงทุนในบริษัท ชบา เอลลิแกนซ์ จำกัด (CHABA) ประกอบธุรกิจให้บริการทำเล็บ สปามือ-เท้า และต่อขนตา ภายใต้ชื่อ Chaba Nails & Spa
ด้วยเหตุผลที่ว่า ธุรกิจ CHABA ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางงานฝีมือค่อนข้างสูง ทำให้ธุรกิจขยายตัวได้ช้าและไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมของบริษัท
โดย SPA จะโอนหุ้นคืนให้กับบริษัท ชบา เนล เวลเนส สปาแอท ดิ อีสท์ จำกัด หรือกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมราคาเดิม ภายในไตรมาส 4/62 โดยบริษัทจะรับรู้รายได้จากการร่วมลงทุนถึงวันที่ 30 ก.ย.62 เท่านั้น
ที่จริงแล้ว CHABA เป็นธุรกิจที่ SPA หมายมั่นปั้นมือจะเข้ามาเสริมแกร่งโครงสร้างรายได้ เพิ่งเข้าไปลงทุนเมื่อช่วงต้นปี 2562 ด้วยการทุ่มงบ 125 ล้านบาท ซื้อหุ้น 76% ของ CHABA ซึ่งในเวลานั้นมี 7 สาขา…
SPA วาดฝันไว้ว่า จะเกิด Synergy ธุรกิจระหว่างกัน เพราะเป็นธุรกิจที่ต่อยอดและเสริมซึ่งกันและกัน
โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ SPA จะเป็นลูกค้าต่างชาติ ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ของ CHABA เป็นลูกค้าคนไทย ทำให้สามารถใช้แผนการตลาดที่จะดึงดูดลูกค้าแต่ละกลุ่มให้มาใช้บริการที่เกี่ยวเนื่องกันได้
ที่สำคัญ จะสามารถรับรู้รายได้และกำไรได้ทันที เนื่องจาก CHABA เปิดให้บริการร้านทำเล็บ สปามือ-เท้า และต่อขนตา อยู่แล้ว 7 สาขา ทำให้ SPA ไม่ต้องเสียเวลาไปหาทำเล ช่างทำเล็บและช่างต่อขนตา เพื่อขยายสาขาเอง
ขณะที่ CHABA มีขนาดร้านที่ไม่ใหญ่ ทำให้สามารถเพิ่มสาขาได้รวดเร็ว โดยใช้เงินลงทุนต่ำ และมีระยะเวลาคืนทุนเร็ว
ผิวเผินก็ดูเหมือนจะดีนะ…
แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป จะเห็นถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในดีลนี้
อย่างแรก SPA โตมากับธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ ปัจจุบันมี 3 แบรนด์อยู่ภายใต้การบริหาร ได้แก่ Let’s Relax, RarinJinda Wellness Spa และ บ้านสวนมาสสาจ อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจให้บริการทำเล็บ สปามือ-เท้า และต่อขนตา ทำให้ต้องพึ่งพาผู้บริหารของ CHABA มากเกินไป
ขณะที่ธุรกิจ CHABA ยังมีความเสี่ยงจากการขาดแคลนช่างฝีมือ โดยหากช่างฝีมือมีการลากิจ หรือลาพักร้อน จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทันที
แถมถ้าไปดูผลประกอบการ CHABA ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร…ปี 2561 มีรายได้รวมแค่ 218 บาท ขาดทุนสุทธิ 431,056 บาท (CHABA เป็นธุรกิจที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 ในรูปแบบของบุคคลธรรมดา โดยเพิ่งมาจัดตั้งบริษัทเมื่อปลายปี 2561)
ดังนั้น หากยังดันทุรังยื้อดีลนี้ต่อไป…แทนที่ CHABA จะช่วยสร้างรายได้ อาจเป็นตัวฉุดงบ SPA ก็เป็นได้…
SPA จึงต้องเร่งปิดเกมนี้ซะก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้กับบริษัท
ดีลนี้จึงจบภายในระยะอันสั้นแค่ 9 เดือน
เรียกว่าไหวตัวทัน…ความเสียหายก็จะน้อยหน่อย..!
ส่วนในอนาคต SPA จะไปลงทุนในธุรกิจอื่นอีกหรือไม่ เป็นช็อตที่ต้องติดตามกันต่อไป
แต่เบื้องต้นผู้ถือหุ้น SPA คงสบายใจที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจาก CHABA ในระยะยาว…
…อิ อิ อิ…