กรุงไทยดิจิทัล

“Banking is Necessary, but Bank is not Necessary”


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

“Banking is Necessary, but Bank is not Necessary”

เอ๊ะ ยังไง! ระบบธนาคารมีความจำเป็น แต่ธนาคารไม่มีความจำเป็น ตัวธนาคารก็จะกลายเป็น “เทคโนโลยี เฟิร์ม” ไป

นั่นก็คือคำกล่าวต้อนรับสื่อมวลชนอาวุโสของเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานธนาคารกรุงไทย และผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัล มอนเทอเรย์

และนั่นก็เป็นที่มาของการเดินทางไปดูงานธนาคารยุคดิจิทัล ที่การโดน “ดิสรัปต์” กำลังเกิดขึ้นทุกวันในซานฟรานซิสโก และบริษัทสตาร์ต-อัพ อันเป็นเสมือนคู่แฝดที่ต้องทำงานร่วมกันและช่วยคิด AI ฉลาด ๆ ให้ ในซิลิคอน วัลเล่ย์ ณ ที่ตั้งเมืองซานโฮเซ

ที่ซิลิคอน วัลเล่ย์ เราได้เข้าไปเยี่ยมชมบริษัทปลั๊ก&เพลย์ ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ต-อัพใหญ่ ทำหน้าที่ครบเครื่องทั้งเป็นตัวกลางให้กับบริษัทสตาร์ต-อัพอื่น ๆ, คิดค้น AI ฉลาด ๆ เองให้กับลูกค้า, เข้าร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ต-อัพเล็ก ๆ หรือเข้าควบซื้อกิจการสตาร์ต-อัพเข้าเป็นอาณาจักรของตนเองไปเลย

ชื่อ Plug & Play ก็บอกความหมายในตัวอยู่แล้วว่า ถ้าถูกใจก็ซื้อไปเลย

ในประเทศไทยเรา มีหุ้นส่วนธุรกิจกับปลั๊ก แอนด์ เพลย์ อยู่ 6 เจ้า ซึ่งก็รวมธนาคารกรุงไทยเป็น 1 ในนั้นด้วย ในวันนั้นปลั๊ก แอนด์ เพลย์ เรียกสตาร์ต-อัพมาพรีเซนต์ทั้งหมด 3 เจ้า จำชื่อได้ว่ามีโทเค่น สัญชาติอเมริกัน บริษัทสัญชาติออสซี่ และอินเดีย

โทเค่น ถึงกับเสนอในเรื่อง “ดิจิทัล มันนี่” จะเป็นอนาคตสำคัญของระบบธนาคาร นอกจากนั้นก็เสนอเรื่องระบบเชื่อมต่อกับแบงก์ไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของแอปพลิเคชันตลอดจนภาคส่วนธุรกิจและบริการอื่น เช่นเดียวกับบริษัทอินเดีย ส่วนบริษัทออสซี่เสนอในเรื่องของการบริหารแต้มและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

เข้าซานฟรานฯ เมืองเอกของรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็มีรายการจัดหนักถึง 3 รายการทั้งที่แอคเซนเจอร์ (Accenture) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่มีพนักงานทั่วโลกถึง 450,000 คน ในไทยมีพนักงานถึง 1,500 คน ล้วนเป็นระดับครีมทั้งสิ้น และก็เป็นหุ้นส่วนธุรกิจใกล้ชิดกับ KTB ยุคใหม่

มาเหยียบซานฟรานฯ ทั้งทีจะพลาดได้ยังไงกับการเยือนแบงก์เวลส์ ฟาร์โก้ (Wells Fargo Bank) ที่เก่าแก่ คนไทยเห็นมาตั้งแต่หนังคาวบอยมาเวอริคเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว และก็มีบทเรียนการทุจริตครั้งใหญ่ในปีค.ศ. 2016 แต่ก็ยังดำรงคงอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้

ส่วนอีกแห่งหนึ่งก็คือ สำนักงานใหญ่ของวีซ่า บริษัทที่ทรงคุณค่ามากกว่าการเป็นบริษัทบัตรเครดิต และก็มี AI ที่สร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับหุ้นส่วนธุรกิจไม่น้อย โดยเฉพาะผลงานล่าสุดในการสร้าง “KTB ทราเวล การ์ด” บัตรเดินทางอัจฉริยะ ที่เปิดสู่โลกใหม่ทางการเงินมาได้ 1 ปีกว่าแล้ว

“ทราเวล การ์ด” ไม่ใช่บัตรเครดิตแน่นอน มีพื้นฐานมาจากบัตรเดบิต ที่ผู้ใช้สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศไม่ว่าสกุลใดบนโทรศัพท์มือถือได้ โดยจะเอาไปรูดซื้อสินค้าบริการหรือแม้กระทั่งจะเอาไปรูดเงินสดในต่างประเทศก็ได้

ข้อดีคือไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อเงินตามบูธแลกเปลี่ยนเงินตรา และไม่ต้องพกพาเงินสดไปต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเกิดการสูญหายหรือถูกฉกชิงวิ่งราวได้ จะใช้จ่ายเท่าไหร่ก็ใช้ไป เหลือกลับมาเมืองไทย จะขายคืนเป็นเงินบาทก็ได้

ทุกอย่างทำได้สะดวกง่ายดายบนมือถือแค่นั้นเอง

กรุงไทย ทราเวล การ์ด ให้บริการมาก่อนใคร ในขณะที่มีบัตรแลกเปลี่ยนเงินตราของธนาคารพาณิชย์เจ้าอื่น ๆ อีกได้แก่ JOURNEY ของ KBank, PLANET SCB และ TMB All Free

ธนาคาร เวลส์ ฟาร์โก้ นำผู้บริหารระดับวีพี. 2 คน มาบรรยายให้ฟังใน 2 เรื่องหลัก ๆ คือ ระบบ Syber Services ที่เน้นการป้องกันมิให้เกิดการโจรกรรมข้อมูลลูกค้าและธนาคาร และระบบบริหารข้อมูลลูกค้า ซึ่งมีฐานบัญชีลูกค้ามากถึง 70 ล้านบัญชี แต่อยู่อย่างกระจัดกระจายให้เป็นข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและปลอดภัยได้อย่างไร

ธนาคารแห่งนี้ เคยมีกรณีทุจริตกระฉ่อนโลกปีค.ศ. 2016 ที่ผ่านมา จึงดูจะเน้นระบบการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์มากเป็นพิเศษ

มาดูบริษัท Accenture บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลกที่น่าทึ่ง และว่ากันว่าอาจจะใหญ่กว่า “บี๊กโฟร์” บางเจ้าด้วยซ้ำ สำนักงานใหญ่ที่ซานฟรานฯ นั้น เป็นอาคารเช่าเพียงแค่ 5 ชั้น แต่บริหารลูกค้าครอบคลุมกว่า 40 อุตสาหกรรมใน 120 ประเทศทั่วโลก

กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสาขาในประเทศไทย คือนนทวัฒน์ พุ่มชูศรี จำนวนพนักงานทั้งสิ้น 1,500 คน และก็ได้บินมาให้การต้อนรับและประสานงานที่นี่ด้วย

นับเป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญชำนาญการด้าน AI เป็นอย่างสูง มีหน้าที่เสาะแสวงหา “โซลูชั่นธุรกิจ” ที่เยี่ยมยอดที่สุดในโลกมาเสนอลูกค้า และนำเสนอ “บิสซิเนส โมเดล” ที่ดีที่สุดมาให้ลูกค้าเลือกเฟ้น

แอคเซนเจอร์เป็นพันธมิตรร่วมทำงานใกล้ชิดกับธนาคารกรุงไทย

ไปอเมริกาเที่ยวนี้ ผมรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงกับคำว่า “ดิสรัปต์” หรือ “ดิสรัปชั่น” มากกว่าปกติ เพราะไปได้เห็นบริษัทสตาร์ต-อัพและ AI ที่เป็นกระแสตื่นตัวไปทั่วแผ่นดินยุโรป อเมริกา และเอเชียบางประเทศ เช่น จีน

ธนาคารกรุงไทยยุคเปลี่ยนผ่านสู่ความทันสมัย ก็ได้ผู้นำที่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ๆ คือผยง ศรีวณิช จากภูมิหลังที่จบปริญญาตรีวิศวฯ อุตสาหการ มหาวิทยาลัยอริโซนา และปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก เพนซิลเวเนีย

ผ่านประสบการณ์ทำงานที่ IFCT ได้รับการคัดเลือกไปทำงานซิตี้แบงก์ ที่นิวยอร์ก และกลับมาซิตี้ แบงก์ประเทศไทย สลับเป็นผู้อำนวยการหลายฝ่ายอยู่ 7 ปี ย้ายมารับงานรองกจญ.ธนาคารกรุงไทย และขึ้นสู่หมายเลข 1 ธนาคารในปัจจุบัน

เขาเป็นมนุษย์ไอทีแมนคนหนึ่งที่ทำงานสนองนโยบายรัฐได้เป็นอย่างดี

ไม่แพ้กันกับประธานธนาคาร ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ที่ชูเรื่อง “กรุงไทยคุณธรรม” ซึ่งผมก็เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริงจากการยกเครื่องระบบธนาคารกรุงไทยเป็น “ดิจิทัล แบงกิ้ง” ซึ่งตัดสินกันด้วยข้อมูลอันเที่ยงตรง ปราศจากอคติ และนำมาซึ่งความโปร่งใสและความยุติธรรมในองค์กร

ขอบคุณธนาคารกรุงไทย ที่ให้โอกาสได้ไปสัมผัสกับโลกแห่งอนาคตที่หากไม่สร้างนวัตกรรมใหม่ก็ต้องโดนทำลายคราวนี้

Back to top button