OSP-CBG ใคร(ชู)กำลังกว่ากัน.?
ในช่วงที่ตลาดฯ ยังไม่ไปไหน รอปัจจัยบวกใหม่ ๆ เข้ามาหนุน แต่กลับมีสองหุ้นในเซกเมนต์เครื่องดื่มชูกำลังที่ออกอาการดี๊ด๊าเป็นพิเศษ..!
สำนักข่าวรัชดา
ในช่วงที่ตลาดฯ ยังไม่ไปไหน รอปัจจัยบวกใหม่ ๆ เข้ามาหนุน แต่กลับมีสองหุ้นในเซกเมนต์เครื่องดื่มชูกำลังที่ออกอาการดี๊ด๊าเป็นพิเศษ..!
นำโดยบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP ที่วิ่งคึกเป็นม้าศึก วิ่งแรลลี่มา 7 วันติด คิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 18.67% นับตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.62
ฟากบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ก็แปลงร่างเป็นควายแดงคะนอง วิ่งแรลลี่มา 5 วันติดเช่นกัน โดยคิดเป็นการปรับเพิ่มขึ้นถึง 9.40% นับตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.62
จึงเกิดคำถามตามมาว่า ระหว่าง OSP และ CBG เครื่องดื่มชูกำลังค่ายไหนกินแล้วคูล…สดชื่นกว่ากัน..?
ถ้าเปรียบเทียบในเชิงโครงสร้างธุรกิจ…OSP แข็งแกร่งกว่า เพราะอยู่มานาน ถึงวันนี้ก็ปาเข้าไป 128 ปีแล้ว ปัจจุบันเป็นเจ้าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง มีมาร์เก็ตแชร์กว่า 50%
ส่วน CBG แม้จะมาทีหลัง แต่ก็เป็นคลื่นลูกใหม่ที่น่าจับตา ครองเบอร์ 2 ของตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง มีมาร์เก็ตแชร์ราว 22-23% (เบอร์ 3 เป็นกระทิงแดง มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ในมือกว่า 10%)
ถัดมาเรื่องการเติบโต…OSP จะโตไม่หวือหวา เป็นการโตแบบมีเสถียรภาพ ขณะที่ CBG ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรจะสวิงกว่า OSP…
ส่วนอัตรากำไรสุทธิ ถ้าดูเฉพาะงวดครึ่งปี 2562 CBG ทำได้ดีกว่า อยู่ที่ 13.55% ส่วน OSP อยู่ที่ 12.30%
OSP จะเสียเปรียบกว่า CBG เนื่องจากเป็นบริษัทใหญ่ ทำให้มีต้นทุนมากกว่า ขณะที่ CBG เป็นบริษัทเล็ก จึงมีต้นทุนน้อยกว่า
ถ้ามาดูสถานะทางการเงิน จะเห็นว่าปัจจุบัน OSP มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 4,931 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 22,739 ล้านบาท ส่วน CBG มีหนี้สินรวมอยู่ที่ 6,821 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 14,516 ล้านบาท
ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ปัจจุบัน OSP อยู่ที่ประมาณ 0.28 เท่า ส่วน CBG อยู่ที่ประมาณ 0.90 เท่า
นั่นทำให้ OSP จะได้เปรียบเรื่องเครื่องมือทางการเงิน…
ด้านการตลาด…OSP แม้เป็นองค์กรใหญ่ มีความเทอะทะหน่อย แต่แบรนด์เป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาจะเน้นขายในประเทศเป็นหลัก และอยู่ระหว่างเตรียมการบุกตลาดต่างประเทศ
ส่วน CBG เป็นองค์กรเล็ก มีความคล่องตัว กลยุทธ์การทำตลาด นอกจากเน้นสร้างเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่แข็งแกร่ง และสร้างทีมสาวบาวแดงเข้ามาเสริมทัพแล้ว
จุดแข็งอีกอย่างอยู่ตรงที่การไปผูกกับวงคาราบาว เช่น เมื่อซื้อคาราวบาวแดง ได้ดูคอนเสิร์ตคาราบาว เป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมาจะเน้นขายสินค้าในต่างประเทศ มากกว่า OSP โดยเฉพาะที่ตลาดอังกฤษ และจีน
แต่สุดท้ายก็ต้องวัดกันที่กำไรใครดีกว่ากัน…
OSP ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 3,005 ล้านบาท จากรายได้รวม 25,163 ล้านบาท ส่วนครึ่งปี 2562 กำไรสุทธิ 1,598 ล้านบาท จากรายได้รวม 12,995 ล้านบาท (OSP เพิ่งเข้าตลาดฯ เมื่อเดือน ต.ค.61)
ขณะที่ CBG ปี 2558 มีกำไรสุทธิ 1,255 ล้านบาท จากรายได้รวม 7,874 ล้านบาท ปี 2559 มีกำไรสุทธิ 1,489 ล้านบาท จากรายได้รวม 10,112 ล้านบาท ปี 2560 มีกำไรสุทธิ 1,245 ล้านบาท จากรายได้รวม 13,067 ล้านบาท ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 1,158 ล้านบาท จากรายได้รวม 14,597 ล้านบาท และครึ่งปี 2562 มีกำไรสุทธิ 971 ล้านบาท จากรายได้รวม 7,170 ล้านบาท
ถามว่าถือยาวคุ้มมั้ย..? ถ้าดูจากอัตราเงินปันผลตอบแทน OSP อยู่ที่ 1.55% ต่อปี ฟาก CBG ยีลด์อยู่ที่ 0.92%
ขณะที่ปัจจุบัน OSP ซื้อขายกันที่ P/E 42.30 เท่า ส่วน CBG P/E อยู่ที่ 50.15 เท่า
ดังนั้น ใครจะเลือกตัวไหน เอาที่สบายใจล่ะกัน…
…อิ อิ อิ…