ตลาดไร้ทิศทาง
เอาไม่อยู่แล้วล่ะครับ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ติดลบไปอีก 1.4% ส่งผลให้ 9 เดือนแรก ส่งออกติดลบไปแล้ว 2.1% ไม่ถึงเป้า 3% ที่กระทรวงพาณิชย์วาดฝันเอาไว้
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เอาไม่อยู่แล้วล่ะครับ ตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ติดลบไปอีก 1.4% ส่งผลให้ 9 เดือนแรก ส่งออกติดลบไปแล้ว 2.1% ไม่ถึงเป้า 3% ที่กระทรวงพาณิชย์วาดฝันเอาไว้
คุณพิมพ์ชนก วอนขอพร ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ยอมยกธงขาวแล้ว ประเมินว่าปีนี้การส่งออกคงติดลบแน่นอน
พอส่งออกเซ ภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทยที่วัดกันด้วย GDP ก็ซวนเซตามไปด้วย ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จะประกาศปรับลดตัวเลขจีดีพีลงในวันที่ 28 ต.ค.ที่จะถึงนี้
เป้าหมายจีดีพีจะเติบโต 3% คงทำไม่ได้แล้ว
อันที่จริง มันก็เป็นเช่นนี้มา 5-6 ปีแล้ว ที่เป้าหมายกับความเป็นจริง มันไปด้วยกันไม่ได้ เวลาตั้งเป้าหมายก็สูงปรี๊ดทุกที แล้วก็ค่อย ๆ ทยอยปรับลดลง เมื่อความจริงจวนตัวใกล้เข้ามา
ยอดการส่งออกเป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักที่สุดถึงร้อยละ 67 ในบรรดาปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายในภาครัฐ
ก็รู้ทั้งรู้ว่า เงินบาทแข็งโป๊กอยู่อย่างนี้แล้ว จะปั๊มตัวเลขส่งออกให้ขยายตัวได้อย่างไร
มันต้องมีวิธีหว่านล้อมหรือกดดันธนาคารแห่งประเทศไทยให้หาทาง “ลดค่าเงินบาท” สิน่า ไม่ใช่ปล่อยให้กอดคัมภีร์ “เป้าหมายเงินเฟ้อ” หรือ “Inflation Targeting” สถานเดียว
ซึ่ง “เงินเฟ้อ” ก็ไม่ใช่ปัญหาของเศรษฐกิจไทยมานมนานแล้ว ปัญหาแท้จริงควรจะเป็น “เงินฝืด” มากกว่า
ข่าวไม่สู้ดีล่าสุดก็คือ โรงงานส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไทยซัมมิทที่หน่วยผลิตแหลมฉบัง ต้องประกาศหยุดการผลิตประมาณ 2 เดือน โดยยอมจ่ายค่าแรงงานให้ลูกจ้างในอัตรา 75% ของอัตราจ้างเดิม
“บาทแข็ง” นอกจากจะสร้างอุปสรรคต่อการส่งออกแล้ว ยังทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งยังคงเป็นเครื่องยนต์แต่เพียงเครื่องเดียว ที่ยังทำงานสร้างรายได้เข้าประเทศอยู่
มามองถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ดูจะไม่มีความหวังใด ๆ ให้เห็นสักเท่าไหร่เลย
สำคัญผิดว่า มาตรการแจกเงินแบบ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” หรือจะเรียก “ชิม ช้อป ใช้” หรือจะใช้ชื่อใดสุดแท้แต่นั้น จะเป็นยาขนานเอกกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ในขณะที่ก็ยังใช้จ่ายกับอาวุธยุทโธปกรณ์ไม่ลดรา
มันไม่ใช่หรอกครับ มาตรการแจกเงินทุกวันนี้ อย่างมาก เงินมันก็หมุนไปได้แค่รอบ-สองรอบเท่านั้น และก็หมุนในแวดวงจำกัด ไม่ได้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งประเทศ ไยถึงแจกกันได้ไม่หยุดหย่อนทั้งในตอนเป็นรัฐบาลคสช.และรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง
แจกเงินได้เดี๋ยวเดียว เดี๋ยวไฟก็ไหม้ฟางหมดในเวลาอันรวดเร็ว
มาตรการรัฐที่พอจะช่วยปลุกเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือได้บ้าง ก็เห็นจะเป็นมาตรการประกันราคาพืชผลทางการเกษตรของพรรคร่วมรัฐบาล อันได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งน่าจะมีเงินไปถึงมือรากหญ้าแน่
แต่ก็ไม่แน่ใจว่า รัฐบาลบรรจุไว้ในงบประมาณรายจ่ายปี 2563 หรือยัง
ส่วนมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองบ้าน ผมว่า อาจจะช่วยปลุกเศรษฐกิจไม่ได้สักเท่าไหร่ เพียงแต่เป็นการช่วยระบายสต๊อกที่ล้นเกินของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น
ตลาดหุ้นไทย ก็ต้องพึ่งพาปัจจัยศักยภาพของตัวเองแหละครับ ในเมื่อไม่มีแรงส่งจากนโยบายเศรษฐกิจรัฐบาลเลย
ภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวดครึ่งปีที่ผ่านมา กำไรลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รอบ 9 เดือนที่ยังรอประกาศบจ.นอกภาคการเงิน ดูมีแนวโน้มจะทรุดตัวลงอีก
กลุ่มที่เคยเป็นความหวังและเป็นตัวหลักขับเคลื่อนตลาดเช่นกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี เดี๋ยวนี้ก็ดูจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรงไปแล้ว
เศรษฐกิจที่ไร้ทิศทาง ก็ย่อมมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นไร้ทิศทางไปด้วย การลงทุนในช่วงนี้ ไม่ใช่ว่าห้ามการลงทุนนะครับ แต่จะต้องคิดให้รอบคอบมากยิ่งขึ้นไปอีก
เช่น หากคิดจะใช้โอกาสเข้าลงทุนตอนราคาหุ้นอ่อนตัว ก็อาจจะต้องคิดลงทุนกับหุ้นที่ให้ผลตอบแทนปันผลสัก 5-6% ขึ้นไป เพราะราคาหุ้นที่เห็นวันนี้ ยังมีราคาหุ้นที่ถูกกว่าให้เห็นอีกในวันหน้า
นักลงทุนคงต้องมองค่า P/E P/BV และ YIELD ของตัวหุ้นเฉพาะตัวมากขึ้น