Spin-Off แตกหน่อ..ต่อกำไร
ช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทกำลังอยู่ระหว่างตระเตรียมนำบริษัทลูกแยกออกมาขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Spin-Off โดยเห็นได้ชัดจากกรณี 3 บริษัทขนาดใหญ่ นั่นคือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีการ Spin-Off บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยจะมีการนำเข้าที่ประชุมบอร์ดปตท.ภายในเดือนธ.ค.นี้
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
ช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทกำลังอยู่ระหว่างตระเตรียมนำบริษัทลูกแยกออกมาขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า Spin-Off โดยเห็นได้ชัดจากกรณี 3 บริษัทขนาดใหญ่ นั่นคือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่มีการ Spin-Off บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR โดยจะมีการนำเข้าที่ประชุมบอร์ดปตท.ภายในเดือนธ.ค.นี้
เช่นเดียวกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ที่เตรียม Spin-Off บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ SCGP โดยความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดจะเกิดขึ้นภายในต้นปี 2563
ขณะที่บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ได้กระทำการ Spin-Off บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR โดยล่าสุดมีกำหนดการเปิดขายหุ้น IPO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับนักลงทุนหลายคน อาจตั้งคำถามว่าการ Spin-off มีปัจจัยเชิงบวกหรือลบหรือผลกระทบกับผู้ถือหุ้นและตัวบริษัทเองอย่างไรกันบ้าง..!??
ในแง่ “บริษัทแม่” เป็นการลดภาระการดูแลบริษัทลูก โดยเฉพาะ “เงินลงทุน” ที่บริษัทแม่ต้องคอยสนับสนุนเป็นประจำ ด้วยเหตุว่าบริษัทลูกไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนเองได้ ที่สำคัญ “บริษัทลูก” จะมีราคาหุ้นอ้างอิงในตลาดฯ ทำให้บริษัทแม่สะท้อนมูลค่าหุ้นชัดเจนมากขึ้น
ในแง่ “บริษัทลูก” หลังจาก Spin-off ทำให้บริษัทมีอิสระต่อการบริหารจัดการมากขึ้น การเสนอขาย IPO ทำให้สามารถระดมทุนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากบริษัทแม่ ลดความซ้อนทับเรื่องการบริหารงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานและการตรวจสอบบริษัทที่ดูโปร่งใสมากขึ้น นั่นหมายถึงภาพลักษณ์ในสายตานักลงทุนดีขึ้นเช่นกัน
สำหรับ “ผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทแม่” มีโอกาสได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้น IPO จากบริษัทลูกที่ได้ Spin-off ออกมาจากบริษัทแม่ ส่วนผู้ถือหุ้นรายใหม่ มีทางเลือกการลงทุนเพิ่มขึ้น
จากเดิมถ้าชอบบริษัทลูกต้องซื้อบริษัทแม่เข้ามาด้วย แต่หลังจาก Spin-off ออกมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อบริษัทแม่ แต่สามารถถือหุ้นบริษัทลูกได้โดยตรง..
ที่สำคัญผลประกอบการ มีการแยกออกเป็นรายบริษัทมากขึ้น ไม่รวมกันเหมือนก่อน จึงทำให้ผู้ถือหุ้นประเมินผลการดำเนินงานได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
ในแง่ผลกระทบเชิงลบ การทำ Spin-off อาจส่งผลกระทบต่อผลดำเนินงานและฐานะการเงิน รวมทั้งการสูญเสียส่วนแบ่งกำไรของบริษัทแม่ด้วย และการเกิด Dilution Effect เพราะก่อนบริษัทลูกจะ Spin-off ต้องมีการออกหุ้นเพิ่มทุน เพื่อทำ IPO ทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทแม่ ได้รับผลกระทบจากจำนวนหุ้น หลังการเพิ่มทุน ส่งผลให้เกิด Dilution Effect โดยราคาจะถูกลดทอนส่งผลเชิงลบต่อผู้ถือหุ้นเดิมโดยตรง
นั่นจึงทำให้ต้องมีการให้สิทธิการจองซื้อหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน (Pre-emptive right)
อีกทั้งอาจทำให้เกิด “ขัดแย้งผลประโยชน์” ดังนั้นบริษัทลูกที่ Spin-off ออกมา จึงต้องมีลักษณะธุรกิจที่ไม่เป็นคู่แข่งระหว่างกัน ขณะที่ “สินทรัพย์” ต้องมีการแยกออกจากกันชัดเจน มีความเป็นอิสระทั้งด้านการบริหาร บุคลากร และนโยบายการจัดการ ทั้งด้านการเงินและบัญชีไปด้วย
แน่นอนว่า..ไม่มีอะไรดีเลิศหรือเสียไปซะทั้งหมด แต่ที่แน่ Spin-Off คือหนึ่งในทางเลือกที่สุดกับ “การแตกหน่อ เพื่อก่อเกิดกำไร” และสร้างผลตอบแทนกับผู้ถือหุ้น..นั่นเอง..!!!