‘เวทีต่อสู้เหมืองทองอัครา’

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ลงอีก 0.25% ธนาคารกลางของไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทยจะว่าอย่างไร


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ลงอีก 0.25% ธนาคารกลางของไทยคือธนาคารแห่งประเทศไทยจะว่าอย่างไร

ยังคงจะยืนอัตราดอกเบี้ยเดิม เพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อซึ่งไม่ใช่ปัญหาในทางความเป็นจริง หรือจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นทางหนึ่งในการสกัดเงินทุนไหลเข้าทำให้ค่าเงินบาทแข็งหรือไม่

ถ้าคงยืนยันจุดเดิม ก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่านโยบายการเงินของแบงก์ชาติมีส่วนแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวใกล้ฟุบเวลานี้ตรงไหน

นำมาสู่คำถามต่อไปอีกว่า มีแบงก์ชาติเอาไว้ทำไม

ปัญหาการตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือ GSP ของสหรัฐฯ ก็จะเป็นอีกปัญหาหนึ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยในเวลานี้

ในขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คิดกันได้แค่การแจกเงิน “ชิมช้อบใช้” เอาไปกระตุ้นการบริโภคซึ่งสร้างคุณค่าน้อยมากทางเศรษฐกิจ

แป๊บเดียวก็หมดไปเหมือนไฟไหม้ฟางและก็ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนอะไร

ปัญหาไฟลนก้นอีกเรื่องหนึ่งของรัฐบาล ก็คือเหมืองทองคำอัครา รีซอร์สเซส อันมีบริษัทแม่สัญชาติออสเตรเลียฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายรัฐบาลไทยจากการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา44 ปิดเหมือง

ต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ที่ฮ่องกง ซึ่งจะเริ่มเปิดการพิจารณาในวันที่ 14 พ.ย. เดือนนี้

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า “ผมจะรับผิดชอบเองเพราะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้มาแต่ต้น”

นายกรัฐมนตรีชื่อเดิมแต่คนละสถานะ ตอนสั่งปิดเหมืองเป็นนายกฯ คสช. แต่ตอนมีคดีความเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง จะรับผิดชอบอย่างไร

ในเมื่อไม่ได้เป็น “เจ้าพนักงานรัฐ”  ตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

ในเมืองไทยก็ดู ทะแม่ง ๆ อยู่แล้วที่นายกรัฐมนตรีไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” แต่มีอำนาจสั่งการให้มีผลผูกพันต่อรัฐได้ทุกประการทั้งโยกย้ายข้าราชการ ดำเนินการจับกุม ปรับทัศนคติกระทั่งสั่งปิดเหมือง ฯลฯ

แล้วจะนำเกณฑ์มาตรฐานแบบไทย ๆ นี้ไปเป็นเกณฑ์พิจารณาในระบบยุติธรรมสากลที่ฮ่องกงเพื่อให้พ้นผิดได้หรือ

ระบบยุติธรรมไทยเราในเวลานี้ไม่ว่ากรณี “พรรคจิ๋ว” ซึ่งมีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์อันพึงมีกลับได้เก้าอี้ ส.ส.หรือกรณีถวายสัตย์ฯ ไม่ครบสุ่มเสี่ยงมากกับคำว่า De void of the Reason หรือความยากไร้เหตุผลทางกฎหมาย

ถ้าหากการพิจารณาของอนุญาโตฯ ฮ่องกง ไม่พบความผิดหรือรัฐบาลไทยไม่ต้องชดใช้ก็ดีไป พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลไทยก็ไม่ต้องเดือดร้อน

แต่หากพบว่าเป็นความผิด และรัฐบาลต้องชดใช้ขึ้นมาใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

รัฐบาลไทยในปัจจุบันหรืออนาคตต่อ ๆ ไปต้องรับผิดชอบชดใช้แม้จะอ้างเป็นรัฐบาลคนละชุดกับคสช.หรือจะเป็นพล.อ.ประยุทธ์รับผิดชอบชดใช้ส่วนตัว

ตามเกณฑ์กฎหมายไทยที่ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่รัฐ”

เคยมีกรณียึดเครื่องบินอันเป็นสมบัติรัฐบาลไทยในต่างแดนมาแล้ว จากกรณีแพ้คดีทางแพ่งกับบริษัทร่วมทุนทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์

กรณีคดีความเหมืองแร่ทองคำหากหาทางประนีประนอมกันได้โดยรัฐบาลยอมเสียประโยชน์บางส่วนก็ดีไปแต่หากต่อสู้กันยืดเยื้อก็ต้องคิดว่าจะเอาอะไรไปสู้

ประเด็นการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างเหมืองกับหน่วยงานรัฐ คิดว่าตัดประเด็นไปได้เลยเพราะไม่มีทั้งการบอกกล่าวล่วงหน้าต่อคู่กรณีและไม่มีผลพิสูจน์ทางวิชาการที่แน่ชัดว่าเหมืองทำความเสียหายมาแสดง

ส่วนประเด็นจะสู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” รัฐบาลไทยไม่ต้องรับผิดชอบนั้นมันจะได้หรือ?

หรือพล.อ.ประยุทธ์จะยอมจ่ายค่าเสียหายเป็นหมื่นล้านในทางส่วนตัวไป

นี่เป็นเวทีกฎหมายทางสากลนะไม่ใช่เวทีลุมพินี หรือราชดำเนิน

Back to top button