พาราสาวะถี

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายกับกรณี พยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ไขก๊อกกรรมาธิการป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลไม่อาจทำงานร่วมกับ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการได้ ก่อนที่พรรคสืบทอดอำนาจจะส่ง สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.ไปนั่งแทน โดยทันทีทันได้ที่ได้รับสัญญาณตรงนี้ ส.ส.ผู้ไปแสดงความกร่างกับตำรวจที่ภูเก็ตมาแล้ว ถึงกับประกาศลั่นพร้อมเดินหน้าชนคนชื่อเสรีพิศุทธ์หากทำงานไม่โปร่งใส


อรชุน

ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายกับกรณี พยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ไขก๊อกกรรมาธิการป.ป.ช. สภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลไม่อาจทำงานร่วมกับ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการได้ ก่อนที่พรรคสืบทอดอำนาจจะส่ง สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.ไปนั่งแทน โดยทันทีทันได้ที่ได้รับสัญญาณตรงนี้ ส.ส.ผู้ไปแสดงความกร่างกับตำรวจที่ภูเก็ตมาแล้ว ถึงกับประกาศลั่นพร้อมเดินหน้าชนคนชื่อเสรีพิศุทธ์หากทำงานไม่โปร่งใส

ไม่เพียงเท่านั้น วันเดียวกัน สนธิญา สวัสดี อดีตผู้สมัครส.ส.สอบตก ที่วันนี้มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคสืบทอดอำนาจ ก็ไปยื่นร้องต่อกกต.ให้ตรวจสอบพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์กับปมให้สัมภาษณ์เรื่องการไม่ให้ความร่วมมือกับคณะกรรมาธิการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยส.ส.รายนี้เห็นว่าน่าจะมีการใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม จึงขอให้กกต.ตรวจสอบและหากพบมีมูลก็ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นอันรู้กันเมื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอยู่ในสถานะ “แตะต้องไม่ได้” ไม่ว่าจะถูกร้องเรียนหรือตรวจสอบเรื่องใดก็ตาม บรรดาลิ่วล้อทั้งหลายจะต้องออกมาปกป้องและดับเครื่องชนฝ่ายตรงข้ามให้แหลกกันไปข้างหนึ่ง เพราะผู้นำเผด็จการรายนี้มีภาพของความเป็นผู้ใสสะอาดจะแปดเปื้อนไม่ได้ ดังนั้น ใครที่บังอาจมากล่าวหาจะต้องเจอการตอบโต้แบบไม่ลืมหูลืมตา จนลืมไปว่า นี่ผ่านพ้นช่วงเผด็จการคสช.ไปแล้ว และผู้นำที่ตัวเองเคารพนบนอบอ้างมาตลอดว่ามาจากประชาชน

การที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำซึ่งมาจากประชาชนนั้น จะต้องสามารถตรวจสอบได้ และกลไกที่จะใช้ตรวจสอบอันเป็นสากล ทุกคนทุกฝ่ายยอมรับได้ก็คือสภาผู้แทนราษฎรหรือฝ่ายนิติบัญญัติ อันเป็นที่รวมของตัวแทนจากประชาชน แม้จะต่างพรรคต่างฝ่ายกันก็ตาม การทำงานในรูปแบบคณะกรรมาธิการสามารถที่จะตรวจสอบได้ไม่ว่าจะเป็นคนของฝ่ายไหนก็ตาม หากพบว่ามีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยจากสาธารณชน

ข้อกล่าวหาที่พุ่งโจมตีไปยังพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ในประเด็นที่ว่า ตั้งหน้าตั้งตาเล่นงานแต่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและมือบริหารจัดการรัฐบาลอย่าง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คำถามที่สังคมอยากทราบก็คือ การใช้อำนาจของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์นั้น ใช้อำนาจความเป็นประธานสั่งการหรือเรียกบุคคลมาให้ข้อมูลหรือเป็นมติจากที่ประชุมคณะกรรมาธิการ เพราะถ้าเป็นอย่างหลังก็หมายความว่าไม่ใช่การใช้อำนาจโดยอคติหรือลุแก่อำนาจ

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าคณะกรรมาธิการป.ป.ช.นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน มีส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการคละเคล้ากันหลายพรรค โดยเฉพาะส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล หากกระบวนการทำงานของพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์เป็นในลักษณะที่ไม่ฟังเสียงกรรมาธิการหรือมุ่งที่จะเล่นงานแต่ผู้นำรัฐบาลและคนซีกรัฐบาล กรรมาธิการรายอื่นจากพรรคร่วมรัฐบาลก็น่าจะมีท่าทีเดียวกันกับกรรมาธิการจากพรรคสืบทอดอำนาจ แต่ทำไมจึงไม่มีใครตีโพยตีพาย

ท้ายที่สุดมันก็หนีไม่พ้นว่า หากฝ่ายหนึ่งเล่นเกมการเมืองอีกฝั่งก็ไม่ได้ต่างกัน หากเป็นเช่นนี้มันก็จะเข้าอีหรอบเดิมที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายนักการเมือง เพราะมุ่งแต่จะเอาชนะคะคานกัน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและประชาชน ขณะเดียวกันประเด็นที่คนของพรรคสืบทอดอำนาจอ้างว่าพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์มุ่งแต่จะตรวจสอบปมที่เกี่ยวกับคนในรัฐบาล ปุจฉาต่อมาคือ แล้วเรื่องที่ตรวจสอบนั้นเกิดความชัดเจนแล้วหรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นกรณีนาฬิกาหรูที่จะมีการเดินหน้าหาข้อมูล เพราะอย่าลืมว่าในชั้นของป.ป.ช.นั้น ยังไม่มีการลงลึกในรายละเอียดของสิ่งที่อ้างว่ายืมเพื่อนมานั้น มีชื่อใครเป็นผู้ครอบครองที่แท้จริง โดยการอ้างว่ายากต่อการสืบค้นหรือได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตนาฬิกา ซึ่งประเด็นนี้ป.ป.ช.เสียงข้างน้อยก็เคยออกมาให้ความเห็นแล้วว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการหยุดการตรวจสอบโดยไม่ได้สืบเสาะหาข้อมูลมายืนยันให้สังคมสิ้นสงสัย

เช่นเดียวกันกับประเด็นวุฒิการศึกษาของคนที่เป็นรัฐมนตรีบางราย ในเมื่อสังคมและคนจำนวนไม่น้อยก็มีข้อกังขาว่า สิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องยืนยันความรู้ความสามารถของคนที่จะเป็นเสนาบดีนั้น ต้องชัดเจน โปร่งใส ในเมื่อยังไม่มีองค์กรไหนออกมายืนยันอย่างชัดแจ้ง ก็ถูกแล้วมิใช่หรือที่จะต้องเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการที่ได้ชื่อว่าป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จะตรวจสอบเพื่อไม่ให้คนที่เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายบริหารมีเรื่องด่างพร้อย จนกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและประเทศ

ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนแล้วแต่มีเหตุและผลอยู่ในตัว อยู่ที่ว่านักการเมืองที่อ้างกันว่าผ่านพ้นยุคของนักการเมืองชั่วนักการเมืองเลว ใช้วิชาสามานย์ห้ำหั่นกันทางการเมืองมาแล้ว ได้ก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นจริงหรือไม่ หรือท้ายที่สุดยังคงสามานย์เหมือนเดิมหรือหนักข้อกว่าเดิม เหล่านี้ผู้นำรัฐบาลและรัฐบาลที่กำลังจะรายงานความคืบหน้ายุทธศาสตร์และการปฏิรูปประเทศให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ ต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่อะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์จะชั่วจะเลวอย่างไรก็มองข้าม แบบนี้ใช้ไม่ได้

นับตั้งแต่สัปดาห์นี้สถานการณ์ทางการเมืองกลับเข้าสู่โหมดเข้มข้นขึ้นมาอีกครั้ง เพราะจะเริ่มมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปีนี้ ประเดิมนัดแรก 6 พฤศจิกายน มีญัตติสำคัญรอการพิจารณาคือ การเสนอให้สภาฯตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้รัฐธรรมนูญที่ส.ส.หลายพรรคเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อไทย อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนา ซึ่งที่ประชุมสมัยที่แล้วให้ยกมาเป็นญัตติด่วนในสมัยนี้

ที่นับจับตาคงเป็นในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะในนโยบายเร่งด่วน 1 ใน 12 ข้อของรัฐบาลสืบทอดอำนาจมีการระบุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ด้วย ต้องดูว่าจะมีการช่วยกันผลักดันอย่างจริงจังและให้เกิดกระบวนการศึกษา นำไปสู่การแก้ไขในระยะเวลาอันรวดเร็ว หรือแค่การเล่นละครปาหี่ แสดงให้บรรดากองเชียร์ที่ไม่ยอมรับขบวนการสืบทอดอำนาจเห็นว่ารัฐบาลจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหานี้จริง แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา สิ่งที่จะแสดงออกผ่านการประชุมสภานั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์

Back to top button