หมดกังวลหุ้นแบงก์
วานนี้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปิดตลาดในแดนบวก โดยเฉพาะหุ้น (แบงก์) ขนาดใหญ่ 4 แห่ง
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
วานนี้หุ้นกลุ่มธนาคารต่างปิดตลาดในแดนบวก โดยเฉพาะหุ้น (แบงก์) ขนาดใหญ่ 4 แห่ง
BBL บวก 2.00 บาท ปิดที่ 178.00 บาท เปลี่ยนแปลง 1.14%
KBANK บวก 2.00 บาท ปิดที่ 148.00 บาท เปลี่ยนแปลง 1.37%
KTB บวก 0.10 บาท ปิดที่ 16.70 บาท เปลี่ยนแปลง 0.60%
และ SCB บวก 0.50 บาท ปิดที่ 117.00 บาท เปลี่ยนแปลง 0.43%
การปิดบวกของหุ้นแบงก์ที่ว่านี้ สวนทางกับมติ 5:2 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25%
และทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียง 1.25%
ก่อนหน้านี้ ตลาดต่างประเมินกันว่า หากดอกเบี้ยลงอีก
กลุ่มแบงก์ร่วงแน่นอน
แต่หากย้อนกลับไปดูราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้ลงมาเรื่อย ๆ สะท้อนกับเรื่องดอกเบี้ยไปล่ะ
หรือเท่ากับว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วนั่นเอง
ทำให้เมื่อวานนี้ไม่ได้เกิดการแพนิกอะไร
ล่าสุด แม้ว่า จะมีนักวิเคราะห์ดีดลูกคิด เพื่อคำนวณกำไรของหุ้นแบงก์แต่ละตัวว่าจะมีผลกระทบจากดอกเบี้ยลงมาอย่างไร
เช่น แบงก์ขนาดใหญ่จะกระทบกำไร 4%
แบงก์ขนาดกลางและเล็กจะกระทบเล็กน้อยหรือไม่เกิน 1%
แต่อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่า ราคาหุ้นแบงก์ ได้ตอบรับกับปัจจัยลบเรื่องดอกเบี้ยไปค่อนข้างมาก
เมื่อดอกเบี้ยปรับลงมาแบบนี้ ทำให้ปัจจัยลบที่จะมาคอยกดดันของแบงก์ต่าง ๆ จะหมดไป
ส่วนถ้าแบงก์ไหนที่ราคาหุ้นอาจมีการปรับลง นั่นก็น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะแบงก์แต่ละแห่งเองแล้วล่ะ เช่น NPL เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีภาระการตั้งสำรองฯ เพิ่ม
เมื่อปัจจัยลบที่เป็นภาพรวมหมดไป
ทำให้นักลงทุนคลายความกังวล และเริ่มทยอยสะสมหุ้นในกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น
มีข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ของหุ้นกลุ่มธนาคารด้วย
นักวิเคราะห์ ต่างคาดว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ไทยส่วนใหญ่ในไตรมาสที่ 4 จะออกมาดี
ปัจจัยหนุนคือ “การขายพอร์ตลงทุน”
และพอร์ตลงทุนที่ว่านี้ ประกอบด้วยพันธบัตร หรือ บอนด์ และหุ้นที่จะถูกขายออกมา
เหตุผลเพื่อนำไปบันทึกในงบกำไร-ขาดทุนของแบงก์ ก่อนปี 2563
นั่นเพราะเนื่องจากในปีหน้า ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ หรือ TFRS 9 เงินที่ได้จากการขายพอร์ตลงทุนจะต้องไปบันทึกไว้ในกำไรสะสมเท่านั้น
เช่น ในไตรมาสที่ 3/62 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK รายงานการขายพอร์ตลงทุน 2.5 พันล้านบาท
“เชื่อว่าทุกแบงก์กำลังทยอยขายพอร์ตลงทุนออกมา เพื่อนำไปบันทึกไว้ในงบกำไร-ขาดทุนของแบงก์ ซึ่งจะโชว์เวลาประกาศงบ แต่ถ้าเป็นปีหน้าแล้ว รายได้เหล่านี้จะถูกบันทึกเป็นกำไรสะสมทั้งหมด และไม่โชว์เวลาประกาศงบกำไร-ขาดทุน” นี่เป็นคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
มีข้อมูลอีกว่า ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB นั้น
ทางผู้บริหาร มีแผนที่จะขายพอร์ตลงทุนออกมาชัดเจนในไตรมาสที่ 4 นี้ และจะช่วยให้ผลประกอบการในไตรมาสนี้ จะออกมาดีกว่าปีก่อนหน้า
ส่วนแบงก์อื่น ๆ ก็น่าจับตามองเช่นกัน
มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของหุ้นแบงก์เพิ่มเติม
จะพบว่า ตั้งแต่ 30-31 ต.ค.ที่ผ่านมา กราฟหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเข้าเก็บหุ้นใหญ่ 4 แห่ง
ดัชนีกลุ่มแบงก์ ณ วันที่ 28 ต.ค.ปิดอยู่ที่ 415.92 จุด
ล่าสุด เมื่อวานนี้กระโดดขึ้นมาปิดที่ 442.50 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +6.39%
ดัชนีกลุ่มแบงก์ที่กระโดดขึ้นมาแรงในช่วง 7 วันทำการ น่าจะมาจากการเข้าซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนต่าง ๆ
เพราะลำพังรายย่อย ไม่น่าจะดันหุ้นแบงก์ได้ขึ้นมากขนาดนี้
กองทุนน่าจะเห็นอะไรดี ๆ ที่เป็นปัจจัยบวกกับแบงก์ต่าง ๆ นั่นแหละ
จึงทยอยสะสมเข้าพอร์ตมาต่อเนื่อง