พาราสาวะถี

ขณะที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคของนักการเมืองและพรรคการเมือง กำลังขับเคลื่อนกันไปในสภาผู้แทนราษฎร คำถามที่สำคัญคือภาคของประชาชนมีความเคลื่อนไหวกันบ้างหรือไม่ หรือมีเฉพาะเวทีของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ดำเนินการกัน จนถูกแจ้งความดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ คำตอบคือมีอยู่เป็นระยะ เพียงแต่ว่าความน่าสนใจหรือการปรากฎเป็นข่าวอาจจะน้อยกว่าฝ่ายการเมือง ทั้ง ๆ ที่หลายเวทีมีความเห็นที่น่าสนใจและเข้มข้นไม่แพ้ความเห็นของนักการเมืองเช่นเดียวกัน


อรชุน

ขณะที่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคของนักการเมืองและพรรคการเมือง กำลังขับเคลื่อนกันไปในสภาผู้แทนราษฎร คำถามที่สำคัญคือภาคของประชาชนมีความเคลื่อนไหวกันบ้างหรือไม่ หรือมีเฉพาะเวทีของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านที่ดำเนินการกัน จนถูกแจ้งความดำเนินคดีไปก่อนหน้านี้ คำตอบคือมีอยู่เป็นระยะ เพียงแต่ว่าความน่าสนใจหรือการปรากฎเป็นข่าวอาจจะน้อยกว่าฝ่ายการเมือง ทั้ง ๆ ที่หลายเวทีมีความเห็นที่น่าสนใจและเข้มข้นไม่แพ้ความเห็นของนักการเมืองเช่นเดียวกัน

ที่เห็นภาพน่าจะเป็นเวทีคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนหรือกป.อพช. ที่ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมหรือมอส. ซึ่งจัดเวทีระดมความคิดเห็น รัฐธรรมนูญ 60 กับสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิชุมชน การแก้ไขปัญหาปากท้อง และความเป็นธรรม ไปเมื่อกลางเดือนที่แล้วที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ

ความเห็นและมุมมองหลัก ๆ ที่น่าสนใจต่อรัฐธรรมนูญของขบวนการสืบทอดอำนาจมีอยู่หลายราย ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ สะท้อนภาพของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 หากเทียบกับรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าอัปลักษณ์ที่สุดอย่างปี 2521 ก็ถือว่าอัปลักษณ์ไม่ต่างกัน โดยเฉพาะการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล ลดทอนอำนาจของประชาชน และทำให้เกิดการหดแคบของการกระจายอำนาจ กลับไปสู่การเป็นการเมืองที่กินไม่ได้และไม่เห็นหัวคนจน

โดยที่ประภาสยังชี้ลึกลงไปอีกว่า ถ้าเราดูภาพใหญ่รัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเอาอำนาจขึ้นไปข้างบน เป็นประชาธิปไตยค่อนใบ เป็นประชาธิปไตยแบบอภิสิทธิ์ชน อันนี้ไม่ต้องรวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่แย่มาก วัฒนธรรมในความหมายที่ว่าอำนาจในการออกกฎหมายหรือจัดสรรการใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้ถูกเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่มันเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมการใช้อำนาจ ที่ควรพูดในเชิงวิชาการอย่างจริงจัง

แน่นอนว่าด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญขององคาพยพเผด็จการสืบทอดอำนาจ เราได้เห็นความหดแคบในประชาธิปไตยแบบตัวแทนหรือการหย่อนบัตรเลือกตั้ง กลายเป็นลากตั้ง ในขณะที่ในตุลาการภิวัตน์เกิดขึ้นงอกเงยอย่างมาก ขณะที่ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ เห็นว่า มีอยู่สามขาหลักที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ต้องแก้ ขาแรกคือสิทธิเสรีภาพ ขาที่สองคือการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล และขาที่สามคือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ในความเห็นของยิ่งชีพเห็นขาที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุดคือ ขาที่ว่าการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาล ประเด็นนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องโจมตีการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เพราะจุดนี้จะเป็นก้าวหนึ่งที่ไปสู่อนาคตที่มีโอกาสมากกว่านี้ ถ้าไม่มีการแก้ตรงนี้จะยากมากที่จะพูดเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน แรงงาน แต่ปัญหาคือขบวนการที่พากันเข้าสู่อำนาจในเวลานี้ จะยอมให้เกิดความเคลื่อนไหวเพื่อล้มตัวเองและสมัครพรรคพวกได้อย่างนั้นหรือ

ปฏิกิริยาและการหาเหตุผลมาอ้างถึงการปฏิเสธแก้รัฐธรรมนูญก็เหมือนอย่างที่ เสรี สุวรรณภานนท์ คนที่ในอดีตเคยได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือส.ส.ร. แต่เวลานี้กลับมารับตำแหน่งส.ว.ลากตั้ง อ้างว่า ส.ว.ปัจจุบันมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีนี้ จนเกิดคำถามตัวโตมาจาก ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตนักวิชาการชื่อดังที่วันนี้มีหัวโขนเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

โดยชำนาญถามเสรีว่า ไปเอามาจากไหน ใครมอบหมายให้ส.ว.ซึ่งไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทำหน้าดูแลความเรียบร้อยของบ้านเมืองตามที่กล่าวอ้าง ความคิดเห็นในลักษณะนี้สงสัยเป็นความเคยตัวจากการสืบทอดอำนาจ เสพสุขมาอย่างยาวนาน โดยไม่เคยรู้จักแบ่งปันเพื่อนร่วมชาติ ไม่คิดจะทำให้ประชาชนเพื่อนร่วมชาติได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญหรืออย่างไร พร้อม ๆ กับการเตือนสติว่าหรือเสรีอยากจะเป็นคนที่เดินไปไหนมีแต่คนส่ายหน้าและเบ้ปากใส่

ขณะที่ ชุมสาย ศรียาภัย รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ตั้งปุจฉาว่า ส.ว.ชุดนี้มาจากไหน มีที่มาอย่างไร มีความชอบธรรมความสง่างามแค่ไหนเพียงใด ได้รับฉันทานุมัติจากใคร ประเด็นที่มาและสรรหาส.ว. ประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมาตรฐานทางจริยธรรม ยังไม่มีผู้วินิจฉัยชี้ขาด เสรีเคยเป็นส.ส.ร. และเป็นนักกฎหมายใหญ่ย่อมทราบดี ท่าทีเช่นนี้ไม่แน่ใจว่าส.ว.คนอื่นเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ แต่คงไม่ต่างกัน เพราะอุปสรรคสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างที่บอกว่าก็คือพวกลากตั้งนี่แหละ

ส่วนความหวังที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ง่ายขึ้นนั้น คงเป็นเรื่องยาก กับการยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่แตะต้อง โยนให้เป็นเรื่องของสภาอย่างเดียว ทั้ง ๆ รู้ทั้งรู้ว่า เงื่อนไขใหญ่ที่ทำให้การแก้ไขทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้คือส.ว.ที่ตัวเองตั้งมากับมือท่ามกลางความกังขาเรื่องความกังขา ผลประโยชน์ทับซ้อนและอีกสารพัด แต่กลับทำเป็นตีมึน ซึ่งท้ายที่สุดคงต้องไปวัดกันที่กระแสสังคม

แน่นอนว่า พิจารณามาถึงวันนี้กระแสดังกล่าวยังมองไม่เห็นทิศทาง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังอาจจะหวาดกลัวกับสถานการณ์ความขัดแย้งตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งยังหวังว่าจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกันอยู่เวลานี้ แม้จะมีข้ออ้างจากฝ่ายกุมอำนาจว่าเพราะปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทว่าการให้เวลามานานกว่า 5 ปีแล้ว ยังจับต้องอะไรไม่ได้ ก็อาจจะเกิดแนวร่วมมุมกลับอย่างที่คาดไม่ถึงกันก็ได้

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ภาคการเมืองกำลังกุลีกุจอกันอยู่เวลานี้ ข้อเสนอจากวงแลกเปลี่ยนของภาคประชาชนที่ควรนำไปประกอบก็คือ ต้องแก้ไขบนหลักประกัน 4 เสาร่วมกันนั่นก็คือ เสานิติธรรมและนิติรัฐ เสาสิทธิมนุษยชน เสาประชาธิปไตย และเสาลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าคิดและขยายผลให้ประชาชนเห็นภาพของสิ่งที่ว่านี้ ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวจุดประกายทำให้เสียงเรียกร้องในการแก้ไขรัฐธรรมนูญขยายวงกว้างและมีโอกาสสำเร็จเพิ่มมากขึ้น

Back to top button