บจ.กำไรยังวูบ

ผ่านมาถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ผ่านมาถึงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) แจ้งผลประกอบการออกมาแล้วประมาณ 170 บริษัท

จากข้อมูลที่รวบรวมได้พบว่ามีกำไรสุทธิรวมกันกว่า 1.16 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 42% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป)

กำไรที่ว่านี้ปรับลงถึง 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2562

จะว่าไปแล้ว

กำไรของบจ.ที่แจ้งงบกันออกมา

มีทั้งตัวเลขออกมาดีกว่าคาดและต่ำกว่าคาดการณ์

ทว่ากำไรที่ต่ำกว่าคาดนั้นส่วนใหญ่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ (กลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมี) และหุ้นที่มีกำไรดีกว่าคาดกลับเป็นหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Middle & Small Cap)

ทำให้ภาพรวมของกำไรออกมาไม่ดีร่วงไปเยอะ

ย้อนกลับไปดูกำไรบจ.ช่วงไตรมาส 1 และ 2 กันซักหน่อย

ไตรมาส 1/2562 บจ.มีกำไรรวมกัน 2.52 แสนล้านบาท ลดลง 9.3%

ไตรมาส 2/2562 บจ.มีกำไรรวมกว่า 1.64 แสนล้านบาท ลดลง 20.05%

แล้วแนวโน้มไตรมาส 3 นี้ล่ะ?

เห็นบรรดานักวิเคราะห์ของโบรกฯ ต่างปรับเป้าประมาณการกำไรไตรมาส 3 ลดลงมาอีก

เช่นบริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดว่ากำไรบจ.ไตรมาส 3 ออกมาอยู่ที่ 2.1-2.2 แสนล้านบาท (ไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 2.70 แสนล้านบาท)

ขณะเดียวกันโบรกฯ ต่าง ๆ เริ่มปรับลดเป้ากำไรของปี 2562 ลงมาเหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน

ล่าสุดในงานสัมมนาประจำไตรมาส 4 ของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เกี่ยวกับเรื่องหุ้นปีหนูทอง

นักวิเคราะห์ต่างมองตรงกันว่า ตอนนี้ต้องมองข้ามไตรมาส 4 ปีนี้ไปก่อนเพราะกำไรก็น่าจะออกมาไม่ดีอีก

แล้วไปมองกำไรของบจ.ปี 2563 กันโน่นเลย

คือต้องมองข้ามช็อตกันแบบยาว ๆ ซักหน่อย

หรือจะต้องดูว่าหุ้นกลุ่มไหนตัวไหนที่ราคาหุ้นปีนี้ร่วงลงหนัก ๆ และยังไม่ฟื้นตัวแต่จะดีขึ้นในปี 2563 แล้วซื้อถือยาวไว้ในพอร์ต

รวมถึงหุ้นที่ผลประกอบการดีแล้วปีหน้ายังออกมาดีอยู่

หุ้นแบบนี้ก็ถูกแนะนำทยอยซื้อเช่นกัน

หุ้นที่ปี 63 จะมีกำไรฟื้นตัว เช่น กลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน กลุ่มปิโตรเคมี

ส่วนจะดีขึ้นจริง ๆ หรือเปล่า

ต้องไปลุ้นกันเอง

แต่เข้าใจว่าเขาคงมีสถิติอยู่ว่าวงรอบหรือ Cycle ของธุรกิจต่าง ๆ เป็นอย่างไร

ขึ้นจำนวนกี่ปี ลงจำนวนกี่ปี

มีประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติมในหุ้นกลุ่มธนาคารกำไรอาจจะปรับลดลงได้อีกในปี 2563

ปัจจัยลบที่กดดันมาจาก NIM จะปรับตัวลงต่อไปจากดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำและไม่แน่ใจว่าเฟดและแบงก์ชาติของไทยจะกดดอกเบี้ยลงมาอีกหรือไม่

หากยังปรับลงมาอีกก็ต้องตัวใครตัวมัน

แต่หากบางแบงก์หาแนวทางออกได้เช่นปรับลดค่าใช้จ่ายมีรายได้จากค่าฟีเข้ามาชดเชยหรือปล่อยสินเชื่อประเภทมาร์จิ้นสูงก็อาจทำให้กำไรไม่ได้ปรับตัวลง

ในทางกลับกันอาจจะออกมาดีกว่าปี 2562 ก็ได้

ส่วนความคาดหวังเรื่องกลับเงินสำรองส่วนเกินจาก IFRS 9 มาเป็นรายได้และกำไรนั้น

หากดูจากที่ผ่านมานายแบงก์มักจะนำเงินประเภทนี้มาตั้งสำรองฯ ต่อไปหรือไม่อาจนำไปลงทุนเพิ่มหรือไปใช้จ่ายอย่างอื่นที่ไม่ใช่มาบันทึกเป็นกำไรทั้ง 100%

วันที่ 14 พ.ย.นี้ จะเป็นวันสุดท้ายที่บจ.ต้องส่งงบการเงินไตรมาส 3

มาลุ้นกันว่าที่สุดแล้วจะลงไปติดลบเท่าไหร่

แต่โอกาสพลิกเป็นบวกนั้นไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน

Back to top button