นักทุบ และนักช้อน ตัวจริงพลวัต2015

ยามที่หุ้นร่วงแรง คำอธิบายง่ายๆ แบบสูตรสำเร็จของนักวิเคราะห์คือ เงินทุนเก็งกำไรต่างชาติไหลออก โดยให้สังเกตค่าดอลลาร์ คำอธิบายนี้คุ้นหูอย่างยิ่ง แต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงช่วงนี้


ยามที่หุ้นร่วงแรง คำอธิบายง่ายๆ แบบสูตรสำเร็จของนักวิเคราะห์คือ เงินทุนเก็งกำไรต่างชาติไหลออก โดยให้สังเกตค่าดอลลาร์ คำอธิบายนี้คุ้นหูอย่างยิ่ง แต่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงช่วงนี้

เหตุผลก็เพราะคนขายหลักในตลาดหุ้นยามนี้คือ กองทุนหุ้นทั้งหลายนั่นเอง

หากมองจากภาพรวม เราจะเห็นได้ว่ากองทุนอาจจะแสดงบทบาทในฐานะผู้ซื้อสุทธิของตลาด รวมทั้งเดือนนี้ด้วย (ดูตารางประกอบ) ทำให้ดูมีภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะผู้ซื้อพยุงตลาดเอาไว้ แต่หากย้อนข้อเท็จจริงวันต่อวัน เราจะเห็นภาพของพฤติกรรมการซื้อขายของกองทุนในวันที่หุ้นร่วงหนักได้ชัดเจน

ตัวอย่างเช่นในวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งหุ้นตกแรง ดัชนีลบไปถึง 19.27 จุด กองทุนเป็นผู้ขายสุทธิมากที่สุด ไม่ใช่ต่างชาติที่ขายเพียงเล็กน้อย

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่สามารถมองย้อนหลังกลับไปได้ว่า วันที่หุ้นร่วงหนักๆ ระดับมากกว่า 15 จุด ทุกครั้ง บทบาทของกองทุนจะโดดเด่นกว่ารายอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะบอกว่า ผู้จัดการกองทุนหุ้นได้กลายสภาพจาก “นักบุญ” เป็น “คนบาป” อย่างเงียบเชียบมานานพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจไม่สดใสมากนัก

ภาพช่องว่างระหว่างพฤติกรรมกับภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่ากองทุนหุ้นของไทยนั้น ได้อำพรางตัวเองไว้ใต้ภาพลักษณ์ที่สวยงาม แล้วโยนความผิดในฐานะ “ผู้ร้าย” ให้กับต่างชาติ  ทั้งที่หากสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า การขายของต่างชาตินั้น มักจะขายหนักในวันที่หุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า เป็นไปตามสูตร “หุ้นขึ้นให้ขาย” อย่างชัดเจน

การถอนทุนของต่างชาติจากตลาดไทยไปยังตลาดอื่นนั้น ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการ “ทุบเอาของ” แต่เป็นการหาจังหวะขายทำกำไรที่สอดรับกับกลยุทธ์การลงทุน ในขณะที่พฤติกรรมการขายหุ้นของกองทุนในปัจจุบันนั้น มีลักษณะเห็นจังหวะหุ้นร่วง ก็สมทบตามซ้ำในลักษณะ “ทุบเอาของ” ซึ่งก็เป็นการทำกำไรช่วงตลาดขาลงได้อีกวิธีการหนึ่ง เป็นวิธีการที่ดิบเถื่อนพอสมควร

ในวันอังคารที่ผ่านมานั้น การขายหุ้นของกองทุนหุ้นเกิดขึ้นในจังหวะที่นักลงทุนในตลาดขาดความเชื่อมั่นต่อผู้นำประเทศที่เคยให้ความหวังมากมายหลังการทำรัฐประหาร และมีคนออกมาพูดถึงอนาคตเศรษฐกิจไทยในเชิงลบมากกว่าบวก โดยที่เรื่องร้ายทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจของรัฐบาลที่นำทีมโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดังนั้นการขายหุ้นของกองทุนจะส่งสัญญาณขับไล่ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจหรือไม่ จึงเป็นประเด็นที่พึงพิจารณาได้

ข้อสังเกตดังกล่าว ดูช่างสอดรับกันดี เพราะหลังจากที่มีข่าวสะพัดไปว่า โอกาสที่จะโละทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจออกจากเก้าอี้ กองทุนหุ้นก็หันกลับมาช้อนซื้อหุ้นในราคาต่ำ แล้วดันราคาทำกำไรอีกต่อหนึ่งเมื่อวานนี้  เรียกว่า สามารถทำกำไรได้ทั้งขาลงและขาขึ้น

หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่เกิดขึ้นตามตัวเลขในตารางที่ยกมา  แสดงว่าผู้จัดการกองทุนหุ้นของไทยนั้น เป็นนักจับอารมณ์ของตลาดได้เก่งฉกาจน่าจับตาทีเดียว เพราะสามารถหากำไรจากอารมณ์ของนักลงทุนได้ ทั้งผ่านการ “ทุบเอาของ” และการช้อนซื้อหุ้นในราคาต่ำได้อย่างมีจังหวะจะโคน

พฤติกรรมซื้อขายของกองทุนหุ้นไทยยามนี้ เห็นได้ชัดว่า ไม่แตกต่างจากรายย่อยที่ใช้สัญญาณทางเทคนิค และจับอารมณ์ของตลาดมาเป็นเครื่องมือในการทำกำไร ต่างจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่เชื่อว่ากองทุนหุ้นเป็นนักลงทุนประเภทเน้นคุณค่า หรือวีไอ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับสัญญาณทางเทคนิค

ผู้จัดการกองทุนอาจจะมีข้ออ้างว่า มีแรงกดดันให้ต้องสร้างผลตอบแทน เพราะเงินที่พวกเขาบริหารอยู่นั้นเป็น “สัมภาระ” ของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ต้องแบกเอาไว้อยู่บนบ่า เนื่องจากกองทุนไม่ใช่กองทุนพยุงหุ้น หรือกองทุนเพื่อการกุศล

พฤติกรรมของกองทุนหุ้นในฐานะทั้ง นักทุบ” และ นักช้อน” พร้อมกันเช่นนี้  ทำให้ไม่สามารถคาดหวังอะไรได้เลยว่า กองทุนจะเป็นที่พึ่งของตลาดหรือนักลงทุนรายย่อยได้เลย

Back to top button