IPO ล้มช้าง
คงเป็นธรรมดา สำหรับหุ้นเข้าตลาดฯ ที่ทางฝั่งเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็อยากจะให้ตั้งราคาสูง ๆ เพื่อจะได้มีเงินเข้าบริษัทมาก ๆ ส่วนทางฝั่ง FA ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้นำบริษัทเข้าจดทะเบียน ก็จะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นด้วย หากมีการตั้งราคา IPO หรือหุ้นจองในราคาสูง
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
คงเป็นธรรมดา สำหรับหุ้นเข้าตลาดฯ ที่ทางฝั่งเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็อยากจะให้ตั้งราคาสูง ๆ เพื่อจะได้มีเงินเข้าบริษัทมาก ๆ ส่วนทางฝั่ง FA ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้นำบริษัทเข้าจดทะเบียน ก็จะได้รับรายได้ค่าธรรมเนียมสูงขึ้นด้วย หากมีการตั้งราคา IPO หรือหุ้นจองในราคาสูง
เคยมี FA ไม่ยอมตามใจเจ้าของหุ้นเหมือนกัน แต่ก็น้อยรายมาก ส่วนใหญ่ก็มักจะเออออไปตามเจ้าของหุ้น และก็ส่วนใหญ่เช่นกัน ที่หุ้นซึ่งตั้งราคาจองสูงมาก ๆ ก็มักจะ “หลุดจอง” ให้เห็นอยู่ประจำ
เจ้าของหุ้นก็ได้เงินเข้าบริษัทไป แต่บาปเคราะห์กลับไปตกใส่นักลงทุนที่ได้รับการจัดสรรหุ้นจอง
หุ้นฟอร์มใหญ่ที่น่าจะสร้างความผิดหวังที่สุดในรอบปีของตลาดหุ้นไทย ก็คือ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC เข้าตลาดฯ มาด้วยเกณฑ์มาร์เก็ต แคป หากมิใช่ใช้เกณฑ์กำไร ตามที่หลักทรัพย์ส่วนใหญ่ปฏิบัติกัน
ราคาไอพีโอที่ 6 บาท เว่อร์มาก! เพราะเป็นราคาที่กำหนดจาก P/E 200 เท่า ในขณะที่ P/E กลุ่มอสังหาริมทรัพย์อยู่แค่ 14 เท่า P/BV หรือราคา/มูลค่าทางบัญชี ก็สูงปรี๊ดถึง 5 เท่า ราคาหุ้นไม่หลุดจองก็เพราะมี “กรีนชู” ค้ำอยู่ แต่พอพ้นระยะ 1 เดือนที่ “กรีนชู” หยุดทำงาน…
ราคาก็หลุดผลัวะลงมาเหลือ 5.40 บาทตั้งแต่วันแรก และก็สุดยากจะคาดเดาได้ว่า อีกนานเท่าไหร่ AWC จะได้กลับคืนราคาไอพีโอ
แอสเสท เวิรด์ฯ ชื่อชั้นอาจจะดี เพราะเป็นทรัพย์สินในเครือข่ายเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แต่เมื่อแต่งตัวเข้าตลาดฯแล้ว ก็มิได้เป็นบริษัทระดับแถวหน้าในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ประการใดเลยนะครับ
รายได้ก็ระดับ 1 หมื่นล้านบาทต้น ๆ กำไรก็ไม่เกินระดับ 2.9 พันล้านบาทเท่านั้น เทียบกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเช่น แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, พฤกษาฯ, ศุภาลัย, ออริจิ้น, แสนสิริ ฯลฯ ก็ยังห่างระดับกันเยอะ ผมว่าติดชาร์ตอันดับเป็นตัวเลข 2 หลักแน่นอน
ที่ปรึกษาทางการเงินของ AWC ประกอบด้วย บล.ภัทร บัวหลวง ไทยพาณิชย์ และบล.กสิกรไทย ร่วมกันตั้งราคา IPO โดยคำนึงถึงอนาคตที่ยาวไกลมาก ๆ และก็คงจะมีความมั่นใจมาก ๆ ว่า AWC จะต้องเป็น “หุ้นเจริญเติบโต” หรือ “โกร้ท สต๊อก”อย่างต่อเนื่อง เพื่อจะลบล้างตัวเลขเว่อร์ ๆ อาทิ พี/อี ตั้ง 200 กว่าเท่าอย่างนี้ลงได้ในเวลาที่ไม่ช้านานนัก
กำหนดราคาหุ้นกันแบบนี้ มีแต่เจ้าของหุ้นได้เงินเข้าบริษัทไป 4 หมื่นกว่าล้านบาท แต่นักลงทุนมีแต่เสีย และยังสร้างบันทึกที่ด่างพร้อยให้กับตลาดหุ้นไทยอีกต่างหาก
ถัดมาอีกไม่นานก็คือ เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท หรือ SHR นี่ก็เป็นระดับ “บิ๊กเนม” อีกเหมือนกัน เพราะเป็นธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตในค่ายสิงห์ คอร์เปอเรชั่น มีกิจการทั้งในประเทศ มัลดีฟส์ และสหราชอาณาจักร
ราคาจอง 5.20 บาท เป็นราคาที่กำหนดจากค่า P/E 170 เท่า และ P/BV 1 เท่า บวกกับความฝันว่าธุรกิจจากนี้ไป 6 ปี(พ.ศ.62-68) จะมีอัตราการขยายตัวปีละ 15% และเมื่อสิ้นสุดปี 68 จะขยายจำนวนโรงแรมเพิ่มเป็น 80 แห่ง และมีห้องพักรวม8,000 ห้อง (จากปัจจุบัน มีโรงแรม 39 แห่ง และห้องพัก 4,600 ห้อง)
ที่ปรึกษาการเงินที่ร่วมฝันไปด้วยกับรายการนี้ มีด้วยกัน 2 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
ครับ หุ้น SHR เปิดเทรดมาวันแรก ก็ไม่มีโอกาสจะได้แตะราคา IPO เลย เปิดที่ 5 บาทถ้วน และซื้อขายต่ำจองตลอดทั้งวันจนปิดตลาดที่ 4.14 บาท หลุดจองไป 1.06 บาท หรือปรับตัวลดลง 20%
ก็คงต้องล่าความฝันกันไปอีกยาวไกลสักหน่อย เพราะไตรมาส 3 ที่เพิ่งประกาศงบออกมา ก็ยังขาดทุนอยู่ 8 ล้านบาท งวด 9 เดือนของปีนี้ ก็ยังมีผลขาดทุนรวมอยู่ที่ 299 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ต้องตามล่าหาตัว “E-Earning” ในอนาคตกันจริง ๆ ราคาหุ้นถึงจะกลับมาสมศักดิ์ศรีหุ้นฟอร์มใหญ่ได้
บริษัทสามารถระดมทุนได้ 7.4 พันล้านบาท นำไปชำระหนี้สถาบันการเงิน 5.5 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้ D/E (หนี้สิน/ทุน) ลดลงจาก 1.5 เท่า เหลือเพียง 0.5 เท่า
น่าทบทวนกระบวนการตั้งราคา “หุ้นจอง” กันสักหน่อย น่าจะดีนะครับ ควรจะเป็นราคาที่ไม่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่แฮปปี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย และธำรงรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงตลาดหุ้นไทย ที่ไม่มีภาพลักษณ์ “หุ้นจอง ราคาแพง”
การจะอ้างว่า ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ก็ดูเหมือนว่าจะถูกต้อง แต่ก็เป็นความถูกต้องประเภท “พูดอีก ก็ถูกอีก” เสียมากกว่า ในทางเป็นจริง ก็ต้องยอมรับว่า มีวิธีกดบีบราคาหุ้นอยู่มากมาย ยิ่งเป็นหุ้นใหญ่และผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น “บิ๊กเนม” ก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองมาก
หุ้นดี แต่แพงโคตร แถมหลุดจอง มันน่าชื่นชมตรงไหน