แก้สมองไหลสไตล์แป๋ว
ไม่รู้ว่าไอเดียบรรเจิดนี้มาจากไหน แต่การคาดเดาว่า เลขาธิการคนปัจจุบันของ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล (ซึ่งเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้เมื่อ 6 เดือนก่อน) อาจจะถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ หรือกินยาผิดซอง หรือเล่นเกมการเมืองด้วย “เงินของคนอื่น” ได้ทั้งสิ้น
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ไม่รู้ว่าไอเดียบรรเจิดนี้มาจากไหน แต่การคาดเดาว่า เลขาธิการคนปัจจุบันของ ก.ล.ต. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล (ซึ่งเป็นสตรีคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้เมื่อ 6 เดือนก่อน) อาจจะถือว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ หรือกินยาผิดซอง หรือเล่นเกมการเมืองด้วย “เงินของคนอื่น” ได้ทั้งสิ้น
ส่วนจะถูกต้องและบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ค่อยว่ากันอีกที
ข้อดำริดัง ๆ ของท่านเลขาฯ รื่นวดี ซึ่งเป็นที่รับรู้ไปทั่วแล้วว่า จะนำเสนอให้คณะกรรมการหรือบอร์ดใหญ่ พิจารณาข้อเสนอเจียดเงินรายรับส่วนเกิน (ไม่เรียกกำไร) ส่วนหนึ่ง มาจ่ายโบนัสให้พนักงานตามสัดส่วน
ในอดีตที่ผ่านมา นับแต่ถือกำเนิดขึ้นมาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เมื่อปี 2535 ก.ล.ต. ถือเป็นองค์กรตามกฎหมายของรัฐ แม้จะอยู่นอกระบบราชการปกติ ทำให้ที่ผ่านมาไม่เคยมีกติกาจ่ายโบนัสประจำปีเจ้าหน้าที่หรือพนักงานเลย ไม่เหมือนตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือรัฐวิสาหกิจ แบบธนาคารแห่งประเทศไทย
เหตุผลของเลขาฯ รื่นวดี ระบุว่า อัตราเงินเดือนของพนักงาน ก.ล.ต.ปัจจุบัน ยังขาดแรงจูงใจมากพอจนทำให้เกิด “สมองไหล” ของพนักงานค่อนข้างสูง การให้โบนัสจึงเป็นการเสริมแรงที่มีความหมาย
เหตุผลที่อ้างน่ารับฟัง เพียงแต่มีคำถามว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบ “ปะผุ” หรือ “ล้อมคอกหลังวัวหาย” หรือไม่ แล้วข้อสรุปของปัญหาสมองไหลที่เกิดขึ้นกับก.ล.ต.มาจากสาเหตุไม่จ่ายโบนัส เป็นหลัก ถูกต้องหรือไม่
ปรากฏการณ์สมองไหลของพนักงาน ก.ล.ต. ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนที่องค์กรนี้มีความรู้ความสามารถค่อนข้างสูงกว่ามาตรฐานองค์กรในตลาดทุนอื่น ๆ ย่อมมีความต้องการดึงตัวพนักงานไปทำงานในองค์กรอื่น ๆ ต่อเนื่อง เพียงแต่ช่วงปีนี้มีระดับการ “สมองไหล” มากกว่าที่ผ่านมา
ปัญหาสมองไหลเกินระดับปกติ เกิดขึ้นนี้ในช่วงรอยต่อที่เลขาธิการคนเดิม นายรพี สุจริตกุล หมดวาระ เพื่อส่งต่องานให้เลขาธิการคนปัจจุบันพอดี
ที่ผ่านมา ตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ล้วนคัดสรรมาจากคนนอก แต่ส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนย้ายมาจากธปท. ทำให้วัฒนธรรมองค์กรนิ่งมายาวนานกับการก๊อบปี้แบงก์ชาติจนกระทั่งมีการเปลี่ยนเป็นจากที่อื่นนับแต่ยุคนายวรพล โสคติยานุรักษ์ เป็นต้นมา และทุกคนที่เข้ามาก็อยู่แค่ 4 ปี ทำให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง
ธรรมชาติขององค์กรที่มีการเปลี่ยนวัฒนธรรมภายในสูง จากปัญหาการเปลี่ยนตัวบุคคลระดับสูงสุดที่มาพร้อมกับนโยบาย “ลดความสำคัญของเก่า เน้นของใหม่เป็นเรื่องเร่งด่วน” ย่อมมีปัญหาสมองไหลเกินระดับเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก
ความพยายามสลัดทิ้งวัฒนธรรม “แบงก์ชาติ” มาเป็น “อะไรก็ไม่ทราบ” เกิดขึ้นพร้อมกับข้อเท็จจริงในตลาดแรงงานของตลาดทุนไทยที่ยังเติบโตไม่หยุดหย่อน
เมื่อปี 2535 ตอนที่ก่อตั้ง ก.ล.ต.ขึ้นมา มีการระดมสร้างแรงจูงใจให้คนจากแบงก์ชาติเข้ามาทำงานกันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู เช่นเพิ่มเงินเดือน และเพิ่มสวัสดิการ “อภิสิทธิ์” สารพัดรูปแบบ (ที่ฮือฮาสุดคือ การคุ้มครองสุขภาพตลอดชีวิต) เพื่อชดเชยกับการไม่ต้องจ่ายโบนัส ปรากฏการณ์ดังกล่าวเมื่อจบสิ้นไปแล้วทำให้ขาดเสน่ห์จูงใจลงไปอักโข
นอกจากนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า โครงสร้างจากฐานเงินเดือนที่ลักลั่น ทำให้เกิดปัญหาพนักงานระดับกลางและล่าง ทำงานหนัก แต่ผลตอบแทนต่ำ ในขณะที่ระดับสูงนั้น “เดินไปเดินมารับห้าหมื่น” (คำเปรียบเทียบ เพราะของจริงสูงกว่านั้น) แม้จะมีการแก้ปัญหามาหลายครั้ง ก็ยังดำรงอยู่
ประกอบกับเลขาธิการคนปัจจุบัน เข้ามาพร้อมกับท่าที “ราชการจ๋า” (ครั้งหนึ่งเคยดำริจะให้พนักงานแต่งยูนิฟอร์มแบบข้าราชการมาทำงาน แต่ที่สุดก็ไม่ได้กระทำ) และให้ความสำคัญกับ “นโยบายสัพเพเหระ” กับเดินทางไปประชุมต่างประเทศและหน่วยงานรัฐภายนอก มากกว่ามุ่งมั่นกับการสร้างนโยบายพัฒนาตลาดทุน
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งปัญหาสมองไหลของก.ล.ต. (จากการที่พนักงานบางส่วนเริ่มมองเห็นว่าที่ทำงานไม่ใช่ Comfort zone อีกต่อไป) ที่สวนทางกับตลาดทุนไทยซึ่งมีขนาดใหญ่โตมากขึ้นคิดเป็นวงเงินรวม 22 ล้านล้านบาท (ตลาดตราสารทุน (หรือตลาดหุ้น) 18 ล้านล้านบาท ตลาดตราสารหนี้ 4 ล้านล้านบาท) หรือ 180% ของจีดีพีประเทศ (ข้อมูลเดือนกันยายน 2561)
ปัญหาสมองไหลนี้ ทำให้ความพยายามแก้ปัญหา “ส้นเท้าอคิลลีส” ในประเด็นคุณภาพด้านธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ อันเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
มีคนมองโลกแง่ร้ายบางคนระบุว่า ผลงานเด่นที่ผ่านมาของเลขาฯ รื่นวดีคือ เดินทางประชุม และ ส่งเสริม SMEs ซึ่งอย่างหลังนี้เลื่อนลอยมาก ๆ ชนิด “เบาหวิวยิ่งกว่าขนนก” ที่หากตรองดูแล้วก็อาจไม่ถูกทั้งหมด แต่ก็ไม่ถึงกับผิดเสียทีเดียว
ส่วนการ “ตีซี้” กับสื่อมวลชนนั้น ไม่เข้าข่ายเป็นผลงานอะไรเลย เป็นแค่การสื่อสารธรรมดา ไม่สามารถวัดค่า KPI ออกมาได้
การใช้เวลาช่วง “ฮันนีมูน พีเรียด” อย่างสิ้นเปลือง ทำให้ข้อสรุปของปีเตอร์ ดรักเกอร์ที่ว่า ผู้บริหารที่โดดเด่นมีแค่ 2 ประเภทเท่านั้นคือ นักฝัน (dreamer) กับ นักแก้ปัญหา (problem killer) ที่เหลือเป็นแค่นักฉวยโอกาส พุ่งเป้าไปที่เลขาฯรื่นวดีว่า เป็นผู้บริหารแบบไหน
ข้อเสนอเร่งด่วนให้โบนัสพนักงานนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าบอร์ดก.ล.ต.จะเห็นชอบหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยคงทำให้ปัญหาสมองไหลยุติลงชั่วคราว แต่จะยั่งยืนแค่ไหนตอบยากพอสมควร
แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ท่านเลขาฯ รื่นวดีไม่มีเสียอะไร ลอยตัวและลอยนวลไปได้อีกหลายยก