THAI มนตราช่วยไม่ได้
ตลอดทั้งปี 2561 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 11,625.17 ล้านบาท แต่ปีนี้ 9 เดือนแรก ขาดทุนสุทธิไปแล้ว 11,119.8 ล้านบาท แต่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็บอกคาดเดาล่วงหน้าว่า ในไตรมาส 4/2562 การบินไทยจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3/2562 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80%
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ตลอดทั้งปี 2561 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI มีตัวเลขขาดทุนสุทธิ 11,625.17 ล้านบาท แต่ปีนี้ 9 เดือนแรก ขาดทุนสุทธิไปแล้ว 11,119.8 ล้านบาท แต่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ก็บอกคาดเดาล่วงหน้าว่า ในไตรมาส 4/2562 การบินไทยจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3/2562 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 4.68 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้จะมากขึ้นตามฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) โดยขณะนี้มียอดจองตั๋วล่วงหน้ากว่า 80%
พร้อมกันนั้น นายสุเมธยังคงย้ำว่าจะเดินหน้าโครงการ “มนตรา” (โครงการฟื้นฟูการดำเนินงานตามกรอบ 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) การเร่งทำกำไรเพิ่มจากการตลาดเชิงรุกและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ 2) การพัฒนาศักยภาพและ แสวงหาโอกาสของกลุ่มธุรกิจ 3) การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีให้กับลูกค้า 4) การดำเนินงานด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี 5) การบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิผล) ต่อไป
พูดอย่างนี้ ส่งสัญญาณว่า โอกาสขาดทุนต่อในไตรมาสสี่ ซึ่งโดยปกติจะมีกำไรเสมอ และโอกาสที่จะขาดทุนทั้งปี มากกว่าปีก่อน ยังเปิดกว้างเสมอ
ผลประกอบการไตรมาสสามของ THAI ถือว่าทำได้ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ย เพราะไตรมาสนี้
อุตสาหกรรมการบินของโลกขยายตัวในอัตราลดลง โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์โดยเฉลี่ยที่ 84.4% จากข้อมูลของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) แสดงการขยายตัว ของปริมาณการขนส่งและปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารในงวด 9 เดือนแรกเพิ่มคนประมาณ 4.5% และ 3.9% ตามลำดับโดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 82.9% สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 82.3% ในขณะที่การขนส่งสินค้าในภาพรวมปรับตัวลดลงจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยแทรกเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่าและอุปทานการให้บริการการบินของสายการบินขยายตัวทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง รวมทั้งกรณีเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย จำนวน 400 วัน ที่มีค่าใช้จ่ายจำนวน 2,700 ล้านบาท
ขณะที่ในงวด 9 เดือนปี 2562 นี้ มีรายได้รวม 1.37 แสนล้านบาท ลดลง 7.6% ต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมลดลง 2.3% ขาดทุนสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีขาดทุนสุทธิ 4.08 พันล้านบาท
ผลจากการขาดทุนที่มาก ส่งผลต่อฐานะทางการเงินที่เดิมย่ำแย่ให้หนักขึ้นไปอีกโดยล่าสุด บุ๊กแวลูลงมาเหลือเพียง 7.68 บาท ในขณะที่ยอดขาดทุนสะสม 1.84 หมื่นล้านบาท ยอดหนี้สินเพิ่มเป็นมากกว่า 2.46 หมื่นล้านบาท และสัดส่วนค่าดี/อีเพิ่มเป็นมากกว่า 20 เท่า
ค่าดี/อีดังกล่าวทรุดตัวลงจาก เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ที่ 14 เท่า และขาดทุนสะสมที่ 1.37 หมื่นล้านบาท และราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลู
ไม่น่าประหลาดใจที่ผลของการขาดทุนจะถูกเชื่อมโยงเข้ากับกรณีการลาออกจากประธานของนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ (สายตรงของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ) รวมทั้งกรรมการคนอื่นอีก 3 คนที่ลาออกก่อนหน้าไม่นานอย่างกะทันหันเมื่อเดือนตุลาคม และ ถูกเชื่อมโยงเข้ากับแนวทางที่พยายามผลักดันให้ทบทวนแผน-แหล่งเงินทุนจัดซื้อเครื่องบิน 38 ลำมูลค่า 2 แสนล้านบาท ให้สอดคล้องสถานการณ์ ภายใน 6 เดือน ที่ยังไม่บรรลุผล
เรื่องในที่ลับที่คลุมเครือเกี่ยวการปัญหาทางด้านนโยบายการบริหารและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของ THAI อยู่ท่ามกลางปัญหาที่สะสมมาหลายยุคสมัย จากปัจจัยภายนอกมากมายและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจการคมนาคมทั่วโลก
อนาคตของราคาหุ้น THAI จะกลับมาเหนือบุ๊กแวลูอย่างไรคงไม่ต้องพูดถึง เพราะยามนี้ ชะตากรรมของบริษัทที่เลวร้ายเข้าใกล้วิกฤต ถึงขั้นหากขาดทุนอีก 3 ไตรมาสติดต่อกัน ความต้องหวนกลับมาพูดซ้ำซากเรื่องการเพิ่มทุนระลอกใหม่
การบริหารแบบปู้ยี่ปู้ยำกิจการที่เกิดขึ้นกับ THAI จนมาถึงขั้นวิกฤตคล้ายกับ มาเลเซีย แอร์ไลน์และ เจแปน แอร์ไลน์นี้ จะสรุปว่าเป็นปรากฏการณ์ทั่วไป หรือเฉพาะองค์กร ไม่ใช่ประเด็นถกเถียงกันมายามหน้าสิ่วหน้าขวาน
สถานการณ์ยากลำบากและหาทางออกไม่เจอของ THAI เช่นนี้ สอดรับคำกล่าวของคาร์ล มาร์กซ์เมื่อกว่า 140 ปีก่อนที่ว่า ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยครั้งแรกเป็นโศกนาฏกรรม แต่ครั้งที่สองและสามเป็นทั้งไร้สาระอเนจอนาถ และอาชญากรรม