นิติ(สงคราม)อำพราง
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่แพร่คลิปอธิบายกระบวนการ Lawfare “นิติสงคราม” การใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรม หรือศาล เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่แพร่คลิปอธิบายกระบวนการ Lawfare “นิติสงคราม” การใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรม หรือศาล เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก
Lawfare ต้องใช้นักร้อง+สื่อชี้นำ ทำให้ประเด็นทางการเมืองไปอยู่ในมือของศาล ตั้งข้อหาคอร์รัปชัน เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ฯลฯ กำจัดศัตรูได้โดยไม่ต้องใช้ทหาร ไม่ต้องชนะเลือกตั้ง
อันที่จริง ปิยบุตร แสงกนกกุล ยังพูดไม่ครบ คือ Lawfare ใช้ควบคู่กับการปั่นกระแส ปลุกความเกลียดชัง สร้างม็อบ ให้เกิดความรู้สึกว่าฝ่ายตรงข้ามชั่วร้าย ใช้อำนาจอะไรก็ได้กำจัดมัน ยิ่งกว่านั้นยังใช้สลับกับรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพิ่มอำนาจศาล องค์กรอิสระ ซึ่งแต่งตั้งกันมาเอง
Lawfare เนียนกว่าการใช้อาวุธ เพราะใช้ความเคารพเชื่อถือต่อสถาบันตุลาการ ว่าอิสระ เป็นกลาง ซึ่งความจริงไม่มี เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ มีอคติสุคติ มีรักโลภโกรธหลง พร้อมจะตัดสินตามความคิดความเชื่อของตน กระบวนการยุติธรรมจึงวางกรอบให้ศาลมีอำนาจจำกัด ตัดสินแพ่งอาญา เมื่อไหร่ที่ข้ามมาเกี่ยวข้องการเมือง ก็ไม่สามารถรักษาอิสระเป็นกลางได้
ในสังคมที่เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนดี ผู้หลักผู้ใหญ่ การใช้อำนาจศาลประกาศิต ก็ทำให้คนเคารพยำเกรงไว้ก่อน การใช้กฎหมาย ตีความกฎหมาย ทำให้คนส่วนใหญ่เถียงสู้ไม่ได้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไร้ตรรกะ ขณะเดียวกันก็มีอำนาจเอาผิด ทำให้ทุกคนเกรงกลัว
อ๊ะอ๊ะ ที่พูดนี้ไม่ได้เจาะจงว่าประเทศไหน เพราะ “นิติสงคราม” กลายเป็นเทรนด์ ใช้กันทั่วโลกจริง ๆ ประเทศเพื่อนบ้านก็เกิดกรณีศาลยุบพรรคฝ่ายค้าน จนกลายเป็นเลือกตั้งพรรคเดียว ประเทศที่ใช้ควบกับรัฐประหารก็เช่นอียิปต์ ซึ่งโค่นประธานาธิบดีจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม แล้วใช้กฎหมายใช้ศาลจำกัดสิทธิเสรีภาพ ตัดสินประหารชีวิตเป็นพัน ๆ
บราซิลก็โค่นล้มรัฐบาลฝ่ายซ้าย โดยอ้าง “ปฏิบัติการล้างรถ” ปราบทุจริต มีทหารและม็อบคนชั้นกลางหนุน จับอดีตประธานาธิบดีลูลา ที่โลกยกย่อง เข้าคุกข้อหารับสินบน โดยอ้างการซัดทอดจากนักธุรกิจที่ยอมให้การเพื่อลดโทษ ท้ายที่สุด พอฝ่ายขวาสุดโต่งชนะเลือกตั้ง ก็ตั้งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะสอบสวนเป็นรัฐมนตรียุติธรรม
“นิติสงคราม” ใช้ได้ผลเพราะลวงตาประชาชนว่าเป็นกระบวนการยุติธรรม โดยส่วนใหญ่ใช้ร่วมกับอำนาจอนุรักษนิยม พวกเชื่อความดี ความเป็นกลาง หรือการใช้ยาแรง เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจสังคม ในขณะที่ประชาธิปไตยต้องใช้กระบวนการรับฟังความเห็นเพื่อแก้ปัญหา และมีข้ออ่อนอยู่บ้าง เช่นการคอร์รัปชันในการเมืองประชาธิปไตย ต้องต่อสู้โดยใช้การตรวจสอบถ่วงดุล แต่พวกคลั่งความดี คลั่งศาสนา (ในอเมริกาใต้ เช่นบราซิล โบลิเวีย เป็นพวกคริสต์อีแวนเจลิสต์) หรือคลั่งศรัทธาแบบต่าง ๆ กลับเชื่อว่าอำนาจเฉียบขาดภายใต้คนดีที่ตรวจสอบไม่ได้ “ปราบโกง” ได้ดีกว่า และปกป้องสังคมได้ดีกว่า
จะเห็นได้ว่า Lawfare มาพร้อมกับอำนาจนิยม กระแสเอียงขวา ปกป้องผลประโยชน์ของคนชั้นนำในประเทศต่าง ๆ แต่หลอกตาชาวบ้านว่าเพื่อความสงบ เพื่อกำจัดคนโกง แล้วก็สร้างความวิบัติไป
ทั่วโลก ทำลายระบบทำลายตรรกะเหตุผล สุดท้ายก็จะทำลายความเชื่อถือต่อความยุติธรรมลงโดยสิ้นเชิง
แต่ในบางประเทศไม่เป็นไรมั้ง เพราะเป็นระบอบอำพรางไปเสียทุกอย่าง เช่นประชาธิปไตยจอมปลอม แต่อำพรางว่ามาจากเลือกตั้ง อ้างว่ายังมีฝ่ายค้าน ยังมีสภา ยังมีการเลือกตั้งแข่งขันกัน แต่เลือกให้ตาย ฝ่ายค้านก็ไม่ชนะ เพราะมี 250 ส.ว.ตั้งเองโหวตให้ตัวเอง
ก็เห็นการใช้กฎหมายมาตั้ง 13 ปี คนไทยยังเฉยเมยอยู่ได้