กระทงหลงทางยุค 4.0
สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ เติบโตแค่ 2.4% ต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่รัฐบาลประยุทธ์ทั้งยึดอำนาจและสืบทอดมา หนทางไตรมาส 4 ยังมืดมน เพราะแรงส่งจากไตรมาสก่อน ๆ อ่อนแรงลงทุกที
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
สภาพัฒน์ แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ปีนี้ เติบโตแค่ 2.4% ต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่รัฐบาลประยุทธ์ทั้งยึดอำนาจและสืบทอดมา หนทางไตรมาส 4 ยังมืดมน เพราะแรงส่งจากไตรมาสก่อน ๆ อ่อนแรงลงทุกที
ช่วงต้นปีรัฐบาลกำลังคึก ประกาศเป้าหมายจีดีพีโตทะลุ 4% พอเห็นสัญญาณของจริงไม่ค่อยดีก็ปรับลดเป้าจีดีพีมาเป็นลำดับ เหลือ 3.5% เหลือ 3% แต่ตอนนี้หดเป้าจีดีพีโต เหลือแค่ 2.9% แล้ว
รองนายกฯสมคิด ที่เพิ่งประกาศให้ช่วยคิดบวกทางเศรษฐกิจ อย่าคิดแต่ทางลบ ก็ประกาศเป็นทางการแล้วว่าตน ไม่ใช่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” อีกต่อไปแล้ว ใครมีอะไรให้ไปสอบถามนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอาเอง
สัญญาณชิ่งเอาตัวรอด ออกมาชัดเจน
นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ กำชับในที่ประชุมครม.นัดที่ผ่านมาให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีและหาเวลาพูดคุยกันให้มากขึ้น
กระตุ้นอะไร ยังไง ไม่เห็นบอก แล้วบรรดารมต.จะไปสุมหัวคุยเรื่องอะไรกัน มาตรการชิมช้อปใช้ที่ออกมา 3 ภาคมันล้มเหลวหรือสำเร็จอย่างไร ถึงต้องหาทางมากระตุ้นกันอีก
โชคไม่ดีเลย จากที่ประชุมใหญ่ผู้ปลูกข้าวโลกหรือ World Rice Conference ปีนี้ ประกาศให้ข้าวพันธุ์ออร์แกนิค “ซอค ตรัง” ของเวียดนามเป็นข้าวยอดเยี่ยมที่สุดของโลก หลังจากปีที่แล้ว ไทยก็เสียแชมป์โลกให้กับข้าวหอมมะลิเขมร
เสียแชมป์โลกข้าวให้เขมรยังไม่เท่าไหร่ แต่แชมป์โลกหลุดมือไปให้เวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งข้าวไทยในทุกเวทีนี่สิ นับเป็นความเสียหายใหญ่หลวง ที่เคยประกาศว่าข้าวไทยเป็นตลาดบน เวียดนามเป็นตลาดล่าง เพราะคุณภาพข้าวไทยดีกว่า แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว…
จะเอาอะไรไปอ้าง ค้าข้าวแข่งกับเวียดนามล่ะ
ประเทศไทยและเศรษฐกิจไทย เดินทางมาถึงวันนี้ได้อย่างไร ก็คงต้องทบทวนเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่เดือนพ.ค. 2557 ที่รสช.เข้ายึดอำนาจเป็นต้นมา
5 ปีครึ่งผ่านไป นึกแล้วก็ใจหาย ทำให้นึกถึงคำว่า “กระทงหลงทาง” ตอนแก้เศรษฐกิจหลัง “ต้มยำกุ้ง”
ยุคนั้น แม่ทัพกอบกู้วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” คือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เดินแนวทาง “เด็กดี IMF” อย่างเต็มกำลัง โดยเชื่อว่า “คีเวิร์ด” หรือกุญแจไขความสำเร็จจะอยู่ที่สถาบันการเงิน
ต้องให้สถาบันการเงินซึ่งอยู่บนสุดของโครงสร้างเศรษฐกิจ แข็งแรงและอยู่ได้ แล้วสถาบันการเงินก็จะโปรยปรายความมั่งคั่งลงมายังโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนล่าง นั่นคือภาคการผลิตจริงหรือที่เรียกว่า “เรียล เซคเตอร์”
แนวทางเช่นนี้ จะเรียกว่า รดน้ำต้นไม้จากที่ใบลงรากก็ไม่ผิดนัก แต่ทักษิณกลับทำตรงกันข้าม คือรดมันที่โคนลงรากเลย แล้วน้ำก็จะไปทำนุบำรุงส่วนรากและหล่อเลี้ยงกิ่งก้านกับส่วนใบเอง นั่นคือการมุ่งเน้นไปที่การปลุกเศรษฐกิจจริง
“ทักษิโนมิคส์” มุ่งดำเนินเศรษฐกิจ 2 ทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “ดูอัล แทรคส์” ในประเทศเองก็มุ่งรดน้ำพรวนดินไปที่ภาคเศรษฐกิจจริงขนานใหญ่ ทั้งกอบกู้ธุรกิจ SME, สร้างโครงการโอท็อป, พักหนี้เกษตรกร, กองทุนหมู่บ้าน และ 30 บาท รักษาทุกโรค ฯลฯ
บทพิสูจน์มีให้เห็น แนวทางรดน้ำจากบนลงล่างของธารินทร์ ต้นไม้แห้งตายหมด ประเทศไทยเป็น “กระทงหลงทาง” มา 3 ปีกว่า (ช่วงรัฐบาลชวน 2 ปลายปี 40-ต้นปี 44) ส่วนแนวทางรดน้ำที่โคน ต้นไม้ค่อย ๆ ฟื้น และก็เติบใหญ่กล้าแข็งเป็นลำดับ
การค้าขาย การลงทุนเริ่มกลับคืนมา ธนาคารก็มีลูกค้าและสร้างรายได้จริง ไม่ใช่เอาแต่เพิ่มทุนจอมปลอมจำพวกสลิปส์-แคปส์ เพื่อปกป้องตัวเอง และในที่สุดรัฐบาลก็มีรายได้ภาษีอากรจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น
ประเทศไทยสามารถใช้หนี้ไอเอ็มเอฟ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ก่อนกำหนด จากการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ฟื้นตัวขึ้นช่วงปี 44-49 และบางปีก็ยังสามารถจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้
มาถึงวันนี้ ในวันที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด และอนาคต “เผาจริง” ในปีหน้าเห็นรำไร ช่วง 5 ปีครึ่งที่ผ่านมา พลังอนุรักษนิยม ปกครองประเทศแบบ “ปิดประเทศ”
ไม่มีใครคบหาสมาคมกับเรา โดยเฉพาะกลุ่มยุโรปและอเมริกา ทำให้เราเสียโอกาสทั้งทางการค้าและการลงทุน ในขณะที่เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปีดตัวเองอย่างเต็มที่
แผนพัฒนาจัดการน้ำทั้งระบบ สูญหายไปเลยกับ 5 ปีครึ่งที่ผ่านมานี้ แนวทางเศรษฐกิจหลักที่รัฐบาลคสช.และผู้สืบทอดใช้เป็นแนวทางหลักคือ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ที่ใช้เงินหว่านโปรยแจก แจกกันไปกว่า 2 ล้านล้านบาท จนกระสุนร่อยหรอถึงกับหน้ามืด จะเอาเงิน “ประกันสังคม” ไปให้ประชาชนกู้กันแล้ว
มันไม่ใช่ประชานิยมแบบทักษิณ และก็ไม่ใช่สังคมสงเคราะห์กันพอหอมปากหอมคอแบบประชาธิปัตย์ แต่เป็นพันธุ์ใหม่ น่าจะเรียกว่ากระทงหลงทางยุค 4.0