หุ้นแบงก์ดีดกลับ

แบงก์กรุงเทพ BBL ราคาหุ้นปิดบวก 5 วันทำการติดต่อกันแล้ว


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

แบงก์กรุงเทพ BBL ราคาหุ้นปิดบวก 5 วันทำการติดต่อกันแล้ว

หรือขึ้นมาจากระดับราคา 173.00 บาท

ล่าสุด เมื่อวานนี้ ราคาปิด  179.00 บาท (+0.28%) เปลี่ยนแปลง +3.46% (ในช่วง 5 วัน) ท่ามกลางมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นทุกวัน

หุ้น BBL ที่ทะยานขึ้นมาและวอลุ่มเยอะแบบนี้

มีเพียงกลุ่มนักลงทุนสถาบัน (น่าจะเป็นกองทุน) และนักลงทุนต่างประเทศ หรือกลุ่มนักลงทุนที่มีเงินหน้าตักหนา ๆ เท่านั้น ที่จะเข้ามาซื้อ

เพราะลำพังรายย่อย ไม่น่าจะทำให้หุ้นแบงก์ตัวนี้ขยับร้อนแรงได้

จะว่าไปแล้ว

ไม่ใช่เฉพาะหุ้นแบงก์อย่าง BBL เท่านั้นที่ขยับขึ้นมา

ทว่า กสิกรไทย หรือ KBANK ได้ขยับตามขึ้นมาเช่นกัน

เพียงแต่ว่า ของกสิกรไทย ราคาหุ้นเพิ่งจะขยับขึ้นมาปิดบวกติดต่อกัน 3 วันทำการ และมาร้อนแรงสุดเมื่อวานนี้ ที่มูลค่าการซื้อขายอันดับ 1 กว่า 2,671 ล้านบาท

ราคาหุ้นบวก 3.00 บาท ปิด 150.00 บาท เปลี่ยนแปลง +1.96%

ส่วนไทยพาณิชย์ หรือ SCB ราคาปิดบวก 2.50 บาท มาที่ 120.50 บาท เปลี่ยนแปลง +2.12%

ราคาหุ้น SCB นี่ก็ปิดบวกขึ้นมา 3 วันต่อกันแล้วเช่นกัน

ปัจจัยที่ทำให้หุ้นแบงก์ดีดกลับ จริง ๆ แล้วไม่ได้มีอะไรมาก หรือมีปัจจัยบวกเจ๋ง ๆ เข้ามาหนุน

เพียงแต่ว่ากลุ่มนักลงทุนสถาบัน และต่างชาติ ต่างมองว่า หุ้นแบงก์นั้น ราคาได้ลงไปถึงจุดต่ำสุดแล้ว หรือสะท้อนกับปัจจัยลบที่นักลงทุนกังวลมากเกินไป

ทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงมาอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ถูกมาก”

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนต่างกังวลเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยขาลงที่จะเข้ามากดดัน NIM หุ้นกลุ่มแบงก์

แต่เมื่อมีการประเมินว่า แบงก์ชาติไม่น่าจะปรับดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีก

ทำให้เปิดความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย จึงเกิดการทยอยซื้อหุ้นแบงก์กลับเข้าพอร์ต

นอกจากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยแล้ว

ปัญหาเกี่ยวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL ต่างเชื่อว่า นายแบงก์จะควบคุมไม่ให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นได้

ในด้านของแบงก์ชาติเอง ก็ออกมาแสดงความเชื่อมั่นในประเด็นนี้เช่นกันว่า หนี้เสียในระบบธนาคารจะไม่ทะยานไปมากกว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 มากนัก

ฟังแบบนี้แล้วก็เบาใจ

การควบคุมหนี้เสียของระบบธนาคารมีทั้งการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

หรือเข้มมากขึ้นนั่นแหละ ไม่มีมาปล่อยซี้ซั้ว

และยังพึ่งพาการตัดจำหน่ายในการแก้ปัญหาหนี้เสียด้วย

อย่างไตรมาส  3/2562 จะพบว่า แบงก์มีการขายและตัดจำหน่าย NPL ออกไปค่อนข้างมาก หลังจากที่ธนาคารเลิกการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะเป็นวิธีที่ไม่ช่วยในการแก้ปัญหาการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นหลัง IFRS 9 จะเริ่มใช้ในปีหน้า

มีข้อมูลเข้ามาเพิ่มเติมด้วยว่า

หุ้นกลุ่มธนาคารที่ปรับขึ้นมาไม่ใช่มีเฉพาะในตลาดหุ้นไทยเท่านั้น

แต่ตลาดหุ้นต่างประเทศ อย่างในย่านเอเชีย ก็เริ่มเห็นการซื้อกลับของหุ้นในกลุ่มนี้ หลังเริ่มคลายกังวลเรื่องดอกเบี้ยขาลง

อย่างในมุมมองของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เช่น บล.เคจีไอฯ ยังแนะนำซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร พร้อมกับแนะนำหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง BBL KBANK SCB และ KTB

ส่วนของบล.โนมูระฯ โฟกัสไปที่ ไทยพาณิชย์ SCB ที่ราคาหุ้น และมีสตอรี่น่าสนใจมากสุด

พร้อมกับยังสนใจแบงก์เล็กอย่าง KKP

KKP ไตรมาส 4/2562 จะกลับมาเติบโตได้ จากรายได้ค่าธรรมเนียมงาน IB

ทั้งการซื้อกิจการ (GPSC+GLOW) และการควบรวม (TMB+TCAP)

และยังถูกคาดหมายว่า จะเข้า SET50 ในรอบถัดไป ถือเป็น sentiment เชิงบวกหนุนเม็ดเงินไหลเข้าด้วย

Back to top button